คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งคำขอปลดจากล้มละลายอาจแยกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ อันได้แก่ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 71 วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลมีคำสั่ง ปลดจากล้มละลาย ถ้าได้ความว่าเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต นอกจากจะมีเหตุผลพิเศษและลูกหนี้ได้ล้มละลายแล้วเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 5 ปี และตามมาตรา 72 ที่บัญญัติว่า ถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวไว้ในมาตรา 73แล้ว ให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตาม(1) ถึง (4) ถ้าไม่ใช่กรณีดังที่บัญญัติในมาตรา 71 วรรคสองและมาตรา 72 ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็เป็นกรณีทั่วไปซึ่งศาลมีอำนาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 71 วรรคหนึ่ง ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า มีเจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวม 4 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 2,916,766.76 บาท ต่อมาเจ้าหนี้ รายที่ 5 และที่ 7 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้คงเหลือเจ้าหนี้ รายที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ 240,301.37 บาท และ เจ้าหนี้รายที่ 9 ที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ 132,305 บาท จำเลยที่ 2 มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่ถูก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดและขายทอดตลาดชำระหนี้ จำนองให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองหลังจากศาลมีคำสั่งให้ปิดคดีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อีก แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีสินทรัพย์เหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความประมาทหรือความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ที่ยอมทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันควรตำหนิจำเลยที่ 2มากกว่า และจำเลยที่ 2 ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 สามารถชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้จึงได้ยอมก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดมาตรา 73(1) จึงเป็นกรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1)ถึง (4) ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ ต้องมีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72(4) เท่านั้นทั้งไม่ใช่กรณีทั่วไปที่ศาลมีอำนาจมีคำสั่งปลดจาก ล้มละลายตามมาตรา 71 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 73(1)ที่ระบุว่าสินทรัพย์ของบุคคลล้มละลายที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้มีเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันหมายความว่า ในขณะที่บุคคลล้มละลายร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่ง ปลดจากล้มละลาย บุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของ จำเลยที่ 2 ได้หลังจากศาลมีคำสั่งปิดคดี ย่อมอยู่ในความหมาย ของมาตรา 73(1) ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตาม มาตรา 73(1) ศาลจึงต้องมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ หลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 4 ราย คือเจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เจ้าหนี้รายที่ 5 และที่ 7 ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนและขอถอนคำขอรับชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้รายที่ 9 ได้รับรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนคงเหลือหนี้ค่าเสียหายบางส่วนกับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระไปแล้วประมาณร้อยละเก้าสิบของหนี้ทั้งหมดนับแต่จำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินใดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้การที่จำเลยที่ 2 ยังคงล้มละลายต่อไปไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายขอให้มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลาย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของจำเลยที่ 2 ว่า มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวม 4 ราย โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้แต่ละรายได้รับชำระหนี้ดังนี้ เจ้าหนี้รายที่ 2 ได้รับชำระหนี้ 240,301.37 บาท เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้ 2,047,058.25 บาท เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้ 448,698.06 บาท และเจ้าหนี้รายที่ 9 ได้รับชำระหนี้132,305 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,868,362.68 บาท ต่อมาเจ้าหนี้รายที่ 5 และที่ 7 ได้รับอนุญาตให้ถอนคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 41085 และ 41086 ตำบลบางเขน (สวนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองหลังจากศาลมีคำสั่งให้ปิดคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อีก จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเพราะทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของ จำเลยที่ 1 และไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายโดยให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เต็มจำนวนหนี้ซึ่งยังไม่ได้ชำระให้เสร็จภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 72(4)
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ข้อแรกว่าจำเลยที่ 2 ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินใดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเพราะทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ประกอบกับเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระไปแล้วเป็นส่วนใหญ่และจำเลยที่ 2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต กรณีมีเหตุสมควรให้ศาลมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขนั้นเห็นว่า คำสั่งคำขอปลดจากล้มละลายอาจแยกได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ อันได้แก่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 71 วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ถ้าได้ความว่าเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตนอกจากจะมีเหตุผลพิเศษและลูกหนี้ได้ล้มละลายแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและตามมาตรา 72 ที่บัญญัติว่า ถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวไว้ในมาตรา 73 แล้วให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตาม (1) ถึง (4)ถ้าไม่ใช่กรณีดังที่บัญญัติในมาตรา 71 วรรคสอง และมาตรา 72 ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็เป็นกรณีทั่วไปซึ่งศาลมีอำนาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 วรรคหนึ่ง คดีนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวม 4 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 2,916,766.76 บาท ต่อมาเจ้าหนี้รายที่ 5และที่ 7 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ คงเหลือเจ้าหนี้รายที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ 240,301.37 บาท และเจ้าหนี้รายที่ 9 ที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ 132,305 บาท จำเลยที่ 2 มีที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 41085 และ 41086 ตำบลบางเขน (สวนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ)จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดและขายตลาดชำระหนี้จำนองให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองหลังจากศาลมีคำสั่งให้ปิดคดีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อีก แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีสินทรัพย์เหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความประมาทหรือความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ที่ยอมทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันควรตำหนิจำเลยที่ 2 มากกว่า และจำเลยที่ 2 ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 สามารถชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้ยอมก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดมาตรา 73(1) จึงเป็นกรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4) ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ ต้องมีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72(4) เท่านั้น ทั้งไม่ใช่กรณีทั่วไปที่ศาลมีอำนาจมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ตามมาตรา 71 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ข้อเท็จจริงตามมาตรา 73(1)เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายแล้วแบ่งแก่เจ้าหนี้จนเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันแต่กรณีของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ ข้อเท็จจริงจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 73(1) ที่ให้ศาลสั่งตามมาตรา 72 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลายตามมาตรา 72(4)จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 73(1) ที่ระบุว่าสินทรัพย์ของบุคคลล้มละลายที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้มีเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันนั้นหมายความว่า ในขณะที่บุคคลล้มละลายร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลาย บุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้หลังจากศาลมีคำสั่งปิดคดี ย่อมอยู่ในความหมายของมาตรา 73(1) ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามมาตรา 73(1) ศาลจึงต้องมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4)
พิพากษายืน

Share