แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกสะใภ้และเป็นคนลาว เข้าพักอาศัยในบ้านเพราะมีครรภ์แก่จวนคลอดเพื่อจะให้แพทย์ตรวจรักษา มิใช่ให้เข้าพักเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ม.64
ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ไทยมิใช่สิ่งของอันอาจนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าอย่างธรรมดาทั่วๆไปได้ จึงมิใช่ “ของ” ตามความใน พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ม.27 ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2กับพวกนำเงินไทยดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ม.27
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 17, 81 ลงโทษตาม มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 เดือน ปรับ 100 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000บาท และตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17 อีกกระทงหนึ่ง ปรับสี่เท่าราคาของเป็นเงิน 19,160บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6 เพียงกระทงเดียว ปรับสี่เท่าราคาของเป็นเงิน 19,160 บาท คืนเงินไทยจำนวน 140,284.25 บาทให้แก่เจ้าของโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2523 เวลาประมาณ 17.30นาฬิกา มีผู้ประสงค์สินบนนำจับมาแจ้งแก่นายประพจน์ สุทธิรัตน์ นายอำเภอเขมราฐว่ามีคนลาวหลบเข้ามาอยู่ในประเทศไทยพักอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 2 โดยนำทองคำมาขายแล้วซื้อของกลับไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายประพจน์ นายชิดชนก ทับแสง ปลัดอำเภอและเจ้าพนักงานตำรวจกับราษฎรอาสาสมัครไปที่บ้านจำเลยที่ 2 บ้านนาอาลอน ตำบลพะลาน อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี บ้านจำเลยที่ 2 ปลูกอยู่โดดเดี่ยวห่างหมู่บ้าน และห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 500 เมตร ขณะนั้นน้ำในแม่น้ำโขงเต็มฝั่งเอ่อเข้ามาในห้วยซึ่งห่างบ้านจำเลยประมาณ 100 เมตร เรือยนต์แล่นเข้าออกในห้วยได้ เมื่อไปจวนจะถึงบ้านจำเลยที่ 2 มีนายพั่วคนลาวถือสิ่งของวิ่งหนีไป และพบกล่องบรรจุของในบริเวณบ้านจำเลยที่ 2 และบนนอกชานบ้านจำเลยที่ 2 ในกระเป๋าสานซึ่งรวมอยู่ในกล่องมีธนบัตรไทยฉบับละ 500 บาท เป็นเงิน 140,000 บาท ธนบัตรประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวม 6010 กีบ เงินไทยในกระเป๋ากางเกงยีนส์และกระเป๋าเสื้อสีขาวจำนวน 284.25 บาท จึงยึดไว้เป็นของกลาง ตามรายการประเมินราคาสินค้าเอกสารหมาย ปจ.1 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นคนลาวเป็นลูกสะใภ้จำเลยที่ 2 มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้แพทย์ตรวจเพราะตั้งครรภ์แก่มีอาการผิดปกติ เจ้าพนักงานได้แจ้งข้อหาและบันทึกจับกุมจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานให้ที่พักอาศัยแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายตามฟ้องนั้น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 บัญญัติว่า ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษ ฯลฯ คดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนลาวของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพ่อสามีที่ตำบลพะลาน อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ได้ผ่านด่านตรวจเข้าเมือง ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 มีครรภ์แก่จวนจะคลอดต้องการให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเขมราฐตรวจครรภ์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนไข้ของโรงพยาบาลดังกล่าว ตามบัตรประจำตัวคนไข้เอกสารหมาย ล.5 เช่นนี้ เห็นว่าผู้ที่จะมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องปรากฏว่าเป็นผู้ที่ให้คนต่างด้าวพักอาศัยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกสะใภ้เข้าพักอาศัยในบ้านของจำเลยที่ 2 เพราะความเจ็บป่วย เพื่อที่จะให้แพทย์ตรวจรักษา จึงมิใช่มีเจตนาให้เข้าพักอาศัยเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการจับกุมตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดในข้อหาดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าเงินไทยจำนวน 140,000 บาท (ที่ถูกจำนวน 140,284 บาท25 สตางค์) เป็นของนายพั่วซึ่งได้มาจากการกระทำความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2464 จึงเป็นของที่ต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ดังกล่าว เป็นธนบัตรและเหรียญกษาปณ์รัฐบาลไทยและเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย มิใช่สิ่งของอันอาจนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไปได้ ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์กล่าวจึงมิใช่ “ของ” ตามความหมายในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกที่นำเงินไทยดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทั้งเงินไทยดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด จึงริบธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของกลางที่เป็นเงินไทยไม่ได้”
พิพากษายืน