คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญขอซื้อไม้จากโจทก์โดยมิได้แจ้งว่าเป็นตัวแทนผู้ใด โจทก์เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเองจึงลดราคาไม้ให้ สัญญานี้จึงเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยตรง ผู้อื่นจะแสดงว่าเป็นตัวการเพื่อเข้ารับสัญญานี้หาทำให้จำเลยต้องหลุดพ้นจากสัญญาไป
การแปลงหนี้ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ด้วยและจะต้องมีสัญญาเป็นสามฝ่าย คือ ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เดิม ว่าเจ้าหนี้ยอมรับเอาลูกหนี้ใหม่โดยระงับหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ต่อลูกหนี้เดิม กับมีสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ใหม่ว่า ลูกหนี้ใหม่จะเข้ารับชำระหนี้แทนลูกหนี้เก่าด้วย
ถึงแม้อายุความในเรื่องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเริ่มนับแล้วก็ตาม ถ้าจำเลยตอบรับใบทวงหนี้ของโจทก์ว่าเป็นหนี้โจทก์และไม่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้รายนั้น เช่นนี้ ย่อมเป็นการรับสภาพหนี้ มีผลให้อายุความสดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อไม้สักจากโจทก์รวมเป็นเงิน ๕๔,๒๐๖.๑๐ บาท และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันทำหลักฐานแก่โจทก์แสดงว่าจำเลยที่ ๒ รับซื้อไม้รายนี้ด้วยขอยืดเวลาชำระหนี้ออกไปเกิน ๖ เดือน ถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าไม้ดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การปฏิเสธต่อสู้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้จำเลยที่ ๒ ใช้เงิน ๕๔,๒๐๖.๑๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๒ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๑ ชำระแทนจะครบ
จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอซื้อไม้จากโจทก์ จำเลยที่ ๑ มิได้แจ้งว่ากระทำในฐานตัวแทน จำเลยที่ ๑ มีหนังสือถึงโจทก์กล่าวว่าขอซื้อไม้สักเพื่อสร้างตึกของจำเลยที่ ๑ เอง และขอลดราคาไม้ในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งโจทก์ก็เข้าใจว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ซื้อเอง จึงลดราคาไม้ ฉะนั้น การซื้อขายไม้รายนี้จึงเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยตรง ผู้อื่นจะแสดงตนว่าเป็นตัวการเพื่อเข้ารับสัญญานี้หาทำให้จำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากสัญญาไม่
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือรับใช้หนี้โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ ก็หลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙,๓๕๐ นั้น มาตรา ๓๔๙ เป็นเรื่องแปลงหนี้ด้วยการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้หรือเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ส่วนมาตรา ๓๕๐ แปลงหนี้ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ด้วย มิฉะนั้น อาจจะเกิดการเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ ถ้าลูกหนี้เดิมจะเอาลูกหนี้ใหม่ที่ปราศจากหลักทรัพย์เข้ามารับใช้หนี้แทนตน การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นี้จะต้องมีสัญญาเป็นสามฝ่าย คือ สัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เดิมว่าเจ้าหนี้ยอมรับเอาลูกหนี้ใหม่เป็นลูกหนี้ของตนต่อไป โดยระงับหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ต่อลูกหนี้เดิม กับมีสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ใหม่ว่า ลูกหนี้ใหม่จะเข้ารับชำระหนี้แทนลูกหนี้เก่า ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โจทก์มิได้ระงับหนี้ค่าไม้ให้แก่จำเลยที่ ๑ คงถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์และจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้รายนี้ ฉะนั้น กรณีจึงไม่ใช่แปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ไม้ที่โจทก์ส่งครั้งแรกถึงครั้งที่ ๘ เกินกว่า ๒ ปีแล้วนั้น ถึงแม้จะรับฟังว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับในวันที่ส่งไม้แต่ละครั้งก็ดี แต่เรื่องนี้จำเลยที่ ๑ ได้มีเอกสารรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริง และไม่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้รายนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นการรับสภาพหนี้ อายุความย่อมสดุดหยุดลง เริ่มนับใหม่ถึงวันฟ้องไม่เกิน ๒ ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง
รวมความว่า จำเลยที่ ๑ ยังไม่หลุดพ้นจากหนี้รายนี้ จึงพิพากษายืน

Share