คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2129/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือยินยอมให้ทำการปลูกสร้างอาคารร่วมผนังเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ส. เจ้าของที่ดินเดิมในการก่อสร้างอาคารชิดแนวเขตที่ดินของตนและใช้โครงสร้างคอนกรีต เสริมเหล็กกับผนังอาคารด้านติดกันนั้นร่วมกัน โจทก์เป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยซื้อมาจากภรรยาและทายาทผู้รับมรดกของ ส. เจ้าของที่ดินเดิม ฐานรากที่รุกล้ำและเหล็กเส้นที่งอกเงยเกิดจากจำเลยกระทำไปตามข้อตกลงในหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารร่วมผนังแม้จะมีส่วนรุกล้ำ ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ ส. โจทก์รับโอนที่ดินของ ส. มาในสภาพที่มีการรุกล้ำอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียก ค่าเสียหายจากจำเลยเกี่ยวกับการรุกล้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนฐานรากและเหล็กเส้นที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าใช้ที่ดินใหม่
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รื้อถอนฐานรากและเหล็กเส้นที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าหนังสือยินยอมให้ทำการปลูกสร้างอาคารร่วมผนังตามเอกสารหมาย ล.10 เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายสมพรเจ้าของที่ดินเดิมในการก่อสร้างอาคารชิดแนวเขตที่ดินของตนและใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กกับผนังอาคารด้านติดกันนั้นร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งสองฝ่ายยินยอมออกค่าก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างและผนังอาคารด้านที่ใช้ร่วมกันคนละครึ่งของราคาก่อสร้างเป็นเงิน 250,000 บาทโดยผู้ก่อสร้างคนหลังจะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้ผู้ก่อสร้างคนแรกก่อนลงมือก่อสร้างอาคารของตน จะเห็นได้ว่าการปลูกสร้างอาคารโดยมีข้อตกลงให้ใช้ผนังอาคารร่วมกันนั้น ฐานรากจะวางไว้ตรงกึ่งกลางแนวเขตที่ดินทั้งสองฝ่ายและผนังอาคารที่ก่อสร้างก่อนจะต้องมีเหล็กยื่นออกมาเพื่อให้ผู้ที่จะก่อสร้างภายหลังได้ผูกเหล็กยึดเพื่อหล่อเป็นคาน มีเฉพาะฐานรากใต้ดินเท่านั้นที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายสมพร และเป็นไปตามข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.10เกี่ยวกับฐานรากและเหล็กฐานที่งอกเงยออกมาจากอาคารตึกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้นได้ความว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยซื้อมาจากนางสดับ พลกนิษฐ ภรรยาและทายาทผู้รับมรดกของนายสมพรเจ้าของที่ดินเดิมประสงค์จะสร้างอาคารพาณิชย์จึงได้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเทฐานรากเพื่อทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ปรากฏว่าพบฐานรากอาคารตึกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 รุกล้ำเข้ามา กว้าง ประมาณ1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ด้านบนของอาคารตึกมีเหล็กเส้นงอกเงยออกมายาวประมาณ 1 เมตร ฐานรากที่รุกล้ำและเหล็กเส้นที่งอกเงยออกมาดังกล่าวได้ความว่าเกิดจากจำเลยที่ 2 กระทำไปตามข้อตกลงในหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารร่วมผนังตามเอกสารหมาย ล.10 ดังนั้น แม้จะมีส่วนที่รุกล้ำอยู่บ้างก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อนายสมพร เมื่อโจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินของนายสมพรมาในสภาพที่มีการรุกล้ำอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการรุกล้ำดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share