คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันเพื่อความประสงค์แห่งการค้าหรือโดยการค้าทำให้แพร่หลายด้วยการฉายภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศ อันเป็นภาพลามกอนาจาร เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287(1) และการที่จำเลยทั้งสามขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้องซึ่งจำเลยนำเอาเครื่องฉายภาพยนตร์และฟิล์มไปเก็บไว้การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาว่าประสงค์มิให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นจับกุมลุล่วงไปโดยสะดวก ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 287,91, 83, 58, 33, 32 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 6 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 4 พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 มาตรา 4, 5, 20 พระราชบัญญัติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2479 มาตรา 4 ริบของกลางและบวกโทษที่รอไว้เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบฟิล์มภาพยนตร์ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ8 เดือนและปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ร้อยตำรวจโทสุธนนั้นมิได้รับราชการในท้องที่เกิดเหตุ ไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเฉพาะในส่วนที่ว่ามีการกระทำเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไรเท่านั้น ไม่มีส่วนรู้ถึงว่าจะเป็นการกระทำของบุคคลใด จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความแตกต่างไปจากที่รู้เห็นจริง ๆ เพื่อเป็นการปรักปรำหรือให้ร้ายผู้ใด ทำให้เชื่อได้ว่าได้เบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง คำเบิกความของร้อยตำรวจโทสุธนนั้นยืนยันข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่า ภาพยนตร์ที่ฉายนั้นเป็นภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจารนอกจากโจทก์จะมีคำของร้อยตำรวจโทสุธนเบิกความยืนยันถึงลักษณะของภาพยนตร์ที่ฉายในวันเกิดเหตุแล้ว โจทก์ยังมีคำเบิกความของนายสมภพพิสิษฐ์ชัยกุล และนายจรัญ สุนทรวารี ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าชมภาพยนตร์ที่ฉายในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงได้ความในทำนองเดียวกันว่าภาพยนตร์ที่ฉายนั้นเป็นภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศ สำหรับรายละเอียดของภาพยนตร์ที่แตกต่างกันไปจากคำเบิกความของพยานโจทก์และฟิล์มภาพยนตร์ของกลางนั้น เห็นว่าเป็นข้อแตกต่างในส่วนปลีกย่อยซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากแต่ละคนพูดถึงภาพที่แสดงออกในแต่ละตอนเท่าที่จำได้และการจดจำรายละเอียดนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากเวลาล่วงเลยมานานทั้งภาพที่ปรากฏจากฟิล์มของกลางนั้นก็อาจจะเป็นคนละตอนกับที่ฉายไปแล้วก็ได้ ซึ่งจะถือเอาข้อแตกต่างในส่วนปลีกย่อยนี้มาเป็นข้อชี้ว่าพยานโจทก์ไม่รู้เห็นนั้นย่อมไม่ได้ ในเมื่อส่วนสาระสำคัญจากคำเบิกความของพยานนั้นได้เนื้อหาต้องตรงกันว่าเป็นภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจาร ข้อที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าในวันเกิดเหตุนั้นกำลังฉายภาพยนตร์เรื่องสงครามแผ่นดินใหญ่นั้น ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะฟิล์มภาพยนตร์ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้จากห้องฉายภาพยนตร์ อันเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางเพศตามที่ปรากฏในรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.10 นั้นเป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นเป็นการแน่นอนอีกชั้นหนึ่ง จึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าภาพยนตร์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีและนำออกฉายนั้น เป็นภาพยนตร์ลามกอนาจาร ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น โจทก์มีร้อยตำรวจโทชูศักดิ์ พิชิตภัย เบิกความว่า เมื่อตำรวจไปที่ห้องฉายภาพยนตร์นั้น ห้องดังกล่าวปิดอยู่เรียกให้เปิด จำเลยที่ 2 ที่ 3ซึ่งอยู่ข้างในไม่ยอมเปิด ตำรวจต่อตัวกันปืนขึ้นไปดู เห็นมีการย้ายเครื่องฉายภาพยนตร์และฟิล์มภาพยนตร์หลบหนีเข้าไปในอีกห้องหนึ่งและได้ความตามคำเบิกความพันตำรวจโทนัทธีว่า เมื่อเปิดประตูห้องฉายภาพยนตร์ออกมาแล้วมีห้องหนึ่งใส่กุญแจอยู่ จำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในห้องฉายภาพยนตร์ตำรวจเข้าไปงัดกุญแจ แต่จำเลยทั้งสามขัดขวางมิให้เข้าไปงัดกุญแจห้อง พันตำรวจโทนัทธีจึงกันจำเลยทั้งสามไว้แล้วให้ตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นในห้องดังกล่าว พบเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรและฟิล์มขนาดเดียวกัน จึงยึดมาเป็นของกลางว เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการไปตามหน้าที่ไม่มีเหตุกับจำเลยทั้งสามมาก่อน จึงไม่มีข้อสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยให้รับโทษจึงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำดังนั้นจริง ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามนั้นคงมีแต่คำเบิกความของจำเลย ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความสนับสนุนให้มีน้ำหนักที่จะฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยทั้งสามกระทำการในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าประสงค์จะมิให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นจับกุมลุล่วงไปโดยสะดวก ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share