แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๔๕
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่เห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
นางสาวศิรินันท์ เอื้อลีฬหะพันธ์ ที่ ๑ นางจริยา ลิ่มอติบูลย์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดปราจีนบุรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๖๐ ตำบลนาแขม (นนทรี) อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้เข้าไปโค่นต้นไม้ ขุดคลองทำถนนและเจาะที่ดินวางท่อรุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าว ทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายพังทลายลงไปในแควหนุมาน จากที่ดินผืนใหญ่กลายเป็นพื้นที่แปลงเล็ก ๓ แปลง และทำให้เกิดลำคลองขึ้น ๒ สาย อันเนื่องมาจากโครงการขุดลอกคลองนาแขม บ้านนาบุ้ง หมู่ ๗ ตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแลแก้ไข และผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลางขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีให้ปรับปรุง ถมดินให้อยู่ในสภาพเดิมและป้องกันไม่ให้น้ำในคลองนาแขมไหลเข้าไปในที่ดิน รวมทั้งให้ปลูกต้นไม้คืนสู่สภาพเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีโดยมีประเด็นข้อหนึ่งว่าการดำเนินการได้กระทำลงในที่สาธารณะ
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าไปขุดลอกคลองนาแขมซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี แม้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นการจัดทำกิจการตามมาตรา ๓ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งกำหนดให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทมีอำนาจหน้าที่ในการก่อสร้าง บูรณะและบำรุงรักษาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในชนบท แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดี เข้าไปขุดลอกคลองอันเป็นเหตุพิพาทคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่จำต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะใด ๆ เพื่อดำเนินการดังกล่าวให้บรรลุผล คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งต่อไป ศาลปกครองกลางจึงส่งความเห็น ไปยังศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี)
ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นราชการบริหารส่วนกลาง ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็น ส่วนราชการในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ขุดลอกคลองนาแขม ซึ่งเป็นการบูรณะแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร ตามมาตรา ๓ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเคยร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แล้วแต่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขหรือดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ด้วย แม้คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดี จะให้การต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินและสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล แต่ประเด็นปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องหรือลำดับรองจากประเด็นหลักว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ไม่อาจแยกพิจารณาในศาลยุติธรรมได้ จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีจะโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อ ผู้ฟ้องคดี แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างว่าไม่ได้กระทำการตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาในคดีนี้ต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน แม้การฟ้องคดีนี้ จะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในที่ดิน แต่ศาลก็จำต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหลัก ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นางสาวศิรินันท์ เอื้อลีฬหะพันธ์ ที่ ๑ นางจริยา ลิ่มอติบูลย์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดปราจีนบุรี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี
นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ