คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21251/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยพาเด็กหญิง ธ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อไปค้าประเวณีที่โรงแรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเป็นธุระจัดหาและพาเด็กหญิง ธ. ให้ไปค้าประเวณี อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 แล้ว ไม่จำเป็นที่เด็กหญิง ธ. ต้องมีเจตนาค้าประเวณีด้วย เพราะบทบัญญัติดังกล่าว มิได้บัญญัติเจตนาของผู้ค้าประเวณีให้เป็นองค์ประกอบความผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) (5), 78 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3)(5), 78 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเกิดเหตุนายปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกบินทร์บุรี โทรศัพท์แจ้งร้อยตำรวจโทตระกูล ทราบว่ามีบุคคลมาติดต่อนักเรียนของโรงเรียนให้ไปค้าประเวณี ร้อยตำรวจโทตระกูลกับดาบตำรวจสมบัติ จึงพากันเดินทางไปพบนายปัญญาที่โรงเรียน จากนั้นนายปัญญาพาเด็กหญิง ธ. มาพบเพื่อวางแผนจับกุมจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจให้เด็กหญิง ธ. โทรศัพท์ไปบอกจำเลยให้พาไปค้าประเวณีและให้สายลับโทรศัพท์ไปหาจำเลยเพื่อขอซื้อบริการทางเพศโดยให้จำเลยพาตัวเด็กหญิงไปส่งที่โรงแรมแมกไม้รีสอร์ท เวลา 19 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ เมื่อถึงเวลานัดหมาย จำเลยพาบุตรสาวของตนเองและเด็กหญิง ธ . ในขณะเกิดเหตุอายุ 13 ปีเศษ นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปที่โรงแรมตามนัด พบกับสายลับและสายลับพูดคุยกับส่งมอบเงินให้จำเลย จำนวน 2,600 บาท จากนั้นมีผู้ตะโกนว่าตำรวจมา จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ธ. หลบหนีแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมไว้ได้
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่เด็กหญิง ธ.ไม่ได้มีเจตนาที่จะค้าประเวณีในวันเกิดเหตุ จะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 หรือไม่เห็นว่า ตามมาตรา 9 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท” ดังนี้การกระทำความผิดในฐานนี้ต้องมีองค์ประกอบความผิดคือ องค์ประกอบภายนอก ได้แก่ การที่บุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในสามอย่าง กล่าวคือ เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด องค์ประกอบภายในมีสองประการคือ ประการแรก เจตนาเป็นธุระจัดหาล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด ประการที่สอง เจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ เพื่อการค้าประเวณี สำหรับองค์ประกอบภายนอกเกี่ยวกับการกระทำเป็นธุระจัดหา หมายความว่าจัดให้ได้มาซึ่งบุคคลใด ล่อไป หมายความว่า ล่อลวงไปยังสถานที่ที่จัดไว้ พาไป หมายความว่านำไป เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาเด็กหญิง ธ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อไปค้าประเวณีที่โรงแรมที่เกิดเหตุแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเป็นธุระจัดหาและพาเด็กหญิง ธ.ให้ไปค้าประเวณีการที่ค้นพบธนบัตรที่ใช่ล่อซื้อของกลางอยู่ที่ตัวจำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะพาเด็กหญิง ธ. ไปค้าประเวณีแล้ว ไม่จำเป็นที่เด็กหญิง ธ.จะต้องมีเจตนาค้าประเวณีด้วยหรือไม่ เพราะบทบัญญัติดังที่กล่าวไว้นี้ มิได้บัญญัติเจตนาของผู้ค้าประเวณีให้เป็นองค์ประกอบความผิดไว้ด้วย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และเมื่อเด็กหญิง ธ. อายุเพียง 13 ปีเศษ ในขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำแก่เด็กที่อายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามมาตรา 9 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share