คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21166/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก มาตรา 51 และข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 65 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ และข้อบังคับของโจทก์มิได้กำหนดไว้ว่าโจทก์จะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการดำเนินการทุกคน กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาบังคับใช้ ซึ่งตามมาตรา 71 กำหนดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ของคณะกรรมการดำเนินการ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ไม่ตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ของ บ. อันมีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของ บ. เป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 14 คน ได้พ้นสภาพจากการเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ไปด้วย คณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือจึงยังมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือทั้ง 14 คน ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ บ. และหรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จึงเป็นเสียงข้างมากตามมาตรา 71 การมอบอำนาจของโจทก์ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 กรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์อนุมัติให้ไถ่ถอนจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 1 จำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมไว้แก่โจทก์โดยจำเลยอื่นมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยนั้น ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิในการบังคับจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมอีกฐานะหนึ่งผิดนัดชำระหนี้หรือไม่
โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธ.ค. 2547) เป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งยี่สิบรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียงจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคำนวณถึงวันฟ้อง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง จึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหมดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 104,795 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 และที่ 12 ถึงที่ 17 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีนางบุบผา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีก 14 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกมีข้อบังคับโจทก์เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการ ข้อ 65 ว่า ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ โดยคณะกรรมการดำเนินการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของสมาชิกและความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ … (17) ฟ้อง ต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ คดีนี้โจทก์มีมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการมอบอำนาจให้นางบุบผาและหรือนายสมเกียรติเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีรวมถึงมอบอำนาจช่วงและแต่งตั้งทนายความ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 และโจทก์โดยนายสมเกียรติผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ตามใบแต่งทนายความ ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2547 โดยทนายโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลปกครองขอนแก่นมีคำพิพากษาซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของโจทก์ที่ไม่ตัดสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของนางบุบผาตามหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 อันมีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของนางบุบผาเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย โดยศาลปกครองขอนแก่นกำหนดให้คำพิพากษามีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์มีมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการมอบอำนาจให้นางบุบผาและหรือนายสมเกียรติเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนโจทก์
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก มาตรา 51 และข้อบังคับของโจทก์ ข้อที่ 65 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อบังคับของโจทก์มิได้กำหนดไว้ว่าโจทก์จะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการดำเนินการทุกคน กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ ซึ่งตามมาตรา 71 กำหนดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ของคณะกรรมการดำเนินการ ดังนั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ไม่ตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ของนางบุบผา ตามหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ที่ ขก 0010/022 ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 อันมีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของนางบุบผาเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 14 คน ได้พ้นสภาพจากการเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ไปด้วย คณะกรรมการดำเนินการ ส่วนที่เหลือจึงยังมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือทั้ง 14 คน ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นางบุบผาและหรือนายสมเกียรติเป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จึงเป็นเสียงข้างมากตามมาตรา 71 การมอบอำนาจของโจทก์ตามคำสั่งของโจทก์ที่ 28/2547 ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบก่อให้เกิดความเสียหายอันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาใหม่ และเห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์อนุมัติให้ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 165326 ที่จำเลยที่ 1 จำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมไว้แก่โจทก์โดยจำเลยอื่นมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยนั้น ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิในการบังคับจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมอีกฐานะหนึ่งผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จึงชอบแล้ว แต่เนื่องจากโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งยี่สิบรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันชำระเงิน 104,795 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์

Share