คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 เอาเช็คซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายมาชำระหนี้ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คเพราะธนาคารปฎิเสธ การจ่ายเงิน หนี้จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา321 แม้จำเลยที่ 2 จะออกเช็คใหม่ 2 ฉบับ พร้อมทั้งให้ดอกเบี้ยด้วยและเอาเช็คเก่าคืนไป โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อสลักหลังก็ตามก็ถือไม่ได้ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับอีก จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ตกลงรับเช็คฉบับใหม่ของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แล้วเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับเอากับจำเลยที่ 2 โดยตรง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์เป็นเงิน 63,485 บาทจำเลยที่ 1 ชำระเงินสด 3,485 บาท ส่วนที่เหลือเอาเช็คผู้ถือซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าหมูที่จำเลยที่ 2 ซื้อจากจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 60,000 บาท จำเลยที่ 1 ลงชื่อสลักหลังเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1จึงหาจำเลยที่ 2 มาพบนายธนา แซ่อึ้ง น้องโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2ออกเช็คผู้ถือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาระยอง จำนวน 2 ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2527 และวันที่ 1 มิถุนายน 2527 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 30,000 บาท แล้วรับเช็คฉบับ 60,000 บาท คืนไปโดยจำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อสลักหลัง วันที่ 17 กรกฎาคม 2527 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เอาเช็คของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ให้โจทก์นั้นเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็ค เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหนี้จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 แม้จำเลยที่ 2 จะออกเช็คใหม่ 2 ฉบับ พร้อมทั้งให้ดอกเบี้ยด้วยและเอาเช็คเก่าคืนไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อสลักหลังก็ตาม ถือไม่ได้ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับอีก จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็ค ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share