แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรมธรรม์ประกันภัยซึ่ง ส. ผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัย ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ อันเป็นสัญญาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยคว่ำได้รับความเสียหายโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแต่จำเลยไม่ยอมชำระ ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ร-1251 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530โจทก์ได้ให้นางสุนันทา พวนพันธ์กิจ เช่าซื้อไปโดยมีข้อตกลงว่าผู้เช่าซื้อต้องนำรถยนต์ดังกล่าวไปทำสัญญาประกันภัย นางสุนันทาจึงนำรถยนต์ดังกล่าวไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่า หากเกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่เอาประกัน จำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับรถยนต์ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท ต่อมาวันที่23 ตุลาคม 2530 ซึ่งอยู่ระหว่างสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามสัญญาประกันภัยเป็นเงินจำนวน 200,000บาท ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาประกันภัยกับจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ คันหมายเลขทะเบียน 1ร-1251กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 ได้ให้นางสุนันทา พวนพันธ์กิจ เช่าซื้อไปแล้วนางสุนันทาได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปประกันภัยไว้กับจำเลยโดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม 2530 ซึ่งอยู่ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุคว่ำในท้องที่ตำบลคลองวาฬอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่ประกันไว้ได้รับความเสียหายหลายรายการ
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.1นางสุนันทาผู้เอาประกันภัยเท่านั้นมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในความเสียหายของรถยนต์ที่เอาประกัน ส่วนโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่ากรมธรรม์ประกันภัยซึ่งนางสุนันทาผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัยนั้น ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ยอมชำระ จนโจทก์ต้องฟ้องร้องเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์ดังกล่าวแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ได้”
พิพากษายืน