แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท อ. เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มี พ. เป็นผู้กระทำการแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย พ. จึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการ และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ
โจทก์ส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัท อ. โดย พ. ในฐานะผู้ทำการแทนแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้เรียก พ. ผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่ผู้ทำการแทนเป็นผู้ทำให้บริษัท อ.ได้รับในประเทศไทยมาไต่สวนและแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยัง พ. เพื่อที่ พ. จะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคสาม ก่อนแล้วจึงมิใช่เป็นการออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัท อ. เพื่อให้รับผิดตามมาตรา 66 เท่านั้น และโจทก์ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยัง พ. แยกต่างหาก การออกและส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินในลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการออกและส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินทั้งบริษัท อ. และ พ. โดยชอบแล้ว
โจทก์ได้ติดตามสืบหาทรัพย์สินของบริษัท อ. และ พ. แต่ไม่มีทรัพย์สินใดให้ยึด นอกจากนี้โจทก์ได้มีหนังสือเตือนให้ พ. ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท อ. นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ แต่ พ. ไม่ชำระ เช่นนี้ ถือว่าโจทก์ได้พิสูจน์แล้วว่าโจทก์ได้เรียกร้องหนี้ภาษีอากรค้างจาก พ. แล้วแต่เรียกไม่ได้ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระเงินภาษีอากรค้างแทน พ. โดยมิต้องเรียกร้องให้ พ. ชำระก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้นางกุลภัทร์ สรรพากรภาค สำนักงานสรรพากรภาค ๑ กรมสรรพากร เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี จำเลยเป็นบริษัทหาชน จำกัด และเป็นผู้ค้ำประกันนายพี ผู้ทำการแทนบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ฯ เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีที่ต้องชำระให้บริษัทดังกล่าวทราบ แต่บริษัทดังกล่าวมิได้ชำระภาษีอากร เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ดังกล่าวจากบริษัทและหรือนายพี ผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้ จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรนายพีต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน ๖๕,๑๐๕,๕๖๓.๐๔ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นางกุลภัทร์ มิได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีแพ่ง คำสั่งที่โจทก์อ้างมิใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องร้องคดีและมิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน คู่ความรับข้อเท็จจริงว่า ขณะฟ้องคดีนางกุลภัทร์ ดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค สำนักงานสรรพากรภาค ๑ จำเลยไม่ติดใจกรณีที่อ้างว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖๕,๑๐๕,๕๖๓.๐๔ บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่านายพี เป็นผู้ทำการแทนบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ฯ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิ หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การและที่คู่ความรับกันในชั้นชี้สองสถานแล้ว พึงได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีนายพีเป็นผู้ทำการแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย นายพีจึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิ
การที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่เคยออกหมายเรียกหรือหมายประเมินใด ๆ ไปยังนายพีเพื่อประเมินให้รับผิดในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวตามมาตรา ๗๖ ทวิ ข้อนี้ปรากฏตามหมายเรียก และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าได้แจ้งไปยังบริษัทดังกล่าวโดยนายพีในฐานะผู้ทำการแทนแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้เรียกนายพี ผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่ลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ เป็นผู้ทำให้บริษัทดังกล่าวได้รับในประเทศไทยมาไต่สวนและแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา ๗๖ ทวิ วรรคสาม ก่อนแล้ว กรณีจึงมิใช่เป็นการออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัทดังกล่าวเพื่อให้รับผิดตามมาตรา ๖๖ เท่านั้น ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ และโจทก์ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังนายพีแยกต่างหากจากที่ออกให้บริษัทดังกล่าว ฉะนั้นการออกและส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินในลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการออกและส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินทั้งบริษัทดังกล่าวและนายพีผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีของบริษัทดังกล่าวด้วยในตัวของหมายเรียกและหนังสือนั้นเอง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันที่ระบุว่าหากทางราชการจะเรียกเอาจากนายพีไม่ได้หรือไม่สะดวก จำเลยยินยอมชำระเงินแทนให้จนครบถ้วนทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้นายพีชำระก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยนั้น ข้อนี้ได้ความจากนางสุนิสาเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ติดตามหนี้ค่าภาษีอากรค้างว่า โจทก์ได้ติดตามสืบหาทรัพย์สินของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ฯ และนายพี แต่ไม่มีทรัพย์สินใดให้ยึดโจทก์จึงต้องทวงถามจากจำเลย นอกจากนี้โจทก์ได้มีหนังสือเตือนให้นายพีในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ แต่นายพีไม่นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้พิสูจน์แล้วว่าโจทก์ได้เรียกร้องหนี้ภาษีอากรค้างจากนายพีแล้วแต่เรียกไม่ได้ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระเงินภาษีอากรค้างแทนนายพี โดยมิต้องเรียกร้องให้นายพีชำระก่อน ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๓๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์