คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท และให้รอการลงโทษไว้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี แต่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากคือนอกจากแก้โทษจำคุกให้เบาลงและเพิ่มโทษปรับแล้วยังให้รอการลงโทษไว้ด้วย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมเพื่อประโยชน์สำหรับการใช้รถยนต์ที่มิได้ขออนุญาตนำเข้าผ่านกรมการค้าต่างประเทศโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและเป็นความผิดร้ายแรงที่สมควรกำราบปราบปรามมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ทั้งจำเลยไม่รู้สึกตัวกลัวผิดกลับต่อสู้คดีมาตลอด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน8 ฌ – 2471 กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แผ่น และปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2538 จำนวน 1 แผ่นหลังจากได้กระทำผิดดังกล่าวจำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนปลอมทั้งสองแผ่นนั้นไปติดที่ด้านหน้าและด้านหลังของรถยนต์ตู้ ยี่ห้อโตโยต้า ส่วนแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมนำไปติดไว้ที่กระจกหน้าของรถยนต์คันดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 32, 33ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม วางโทษจำคุก 3 ปี ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรจำนวน 120 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะอัตราโทษโดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามโจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 นั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท และให้รอการลงโทษไว้ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปีแต่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก กล่าวคือ นอกจากแก้โทษจำคุกให้เบาลงและเพิ่มโทษปรับแล้วยังให้รอการลงโทษไว้ด้วย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยกระทำความผิดโดยการใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมเพื่อประโยชน์สำหรับการใช้รถยนต์ที่มิได้ขออนุญาตนำเข้าผ่านกรมการค้าต่างประเทศ โดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและเป็นความผิดร้ายแรงที่สมควรกำราบปราบปรามมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ทั้งจำเลยไม่รู้สึกสำนึกตัวกลัวผิดกลับต่อสู้คดีมาตลอด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share