คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นสามี จำเลยที่ 2 เป็นภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพื่อซื้อบ้านมาอยู่อาศัยด้วยกันและซื้อทรัพย์สินอื่นมาใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกร้างกัน จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินโจทก์และยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะตัวแทนอันมีผลให้จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบ้านและทรัพย์สินอื่นด้วย ฉะนั้นแม้ในสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้คนเดียวก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินโจทก์รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1
เมื่อจำเลยกู้เงินของสมาคมโจทก์ คือ เอาเงินของสมาคมโจทก์ไปจำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินคืนแก่สมาคมโจทก์ จำเลยจะโต้แย้งว่าสมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ได้
(อ้างฎีกาที่ 1804/2500)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นสมาคม จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพร่วมกันอย่างเป็นหุ้นส่วนโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไป2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 80,000 บาท เพื่อเอาไปซื้อบ้านและทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อกู้ไปแล้วจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเลย โจทก์ทวงถามจำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงิน80,000 บาท ดอกเบี้ยที่ค้าง 33,375 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท ตั้งแต่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่าสมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมกันทำสัญญาว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อกีดกันไม่ให้จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันสัญญากู้จึงไม่ผูกพันจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน80,000 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างจนถึงวันฟ้อง 33,375 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า

1. จำเลยที่ 1 กู้เป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 เองจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมสัญญากู้ด้วย และจำเลยที่ 2 มิได้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการกู้

2. สมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองมิใช่สามีภรรยากันตามกฎหมายเพราะมิได้จดทะเบียนสมรส และการกู้เงินรายนี้จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้แต่คนเดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปซื้อบ้านและทรัพย์สินอย่างอื่นในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการกู้เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองและจำเลยที่ 2 ยอมรับเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปซื้อของ ดังจะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ฟ้องขอแบ่งบ้านและทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินดังกล่าว ฉะนั้นแม้ในสัญญากู้จะไม่ปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินโจทก์รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1

ที่จำเลยฎีกาข้อ 2 ว่า สมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงินการให้กู้เงินนอกเหนือวัตถุประสงค์ สมาคมโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยได้กู้เงินของสมาคมโจทก์คือเอาเงินของสมาคมโจทก์ไป จำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้คืนให้แก่สมาคมโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเงิน จำเลยจะโต้แย้งอำนาจของสมาคมโจทก์ว่าไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ได้ ดังได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1804/2500 ระหว่าง บริษัทนวรัตน์ จำกัด โจทก์ นายวิเชียร เลขยานนท์ จำเลยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย โจทก์มิได้แก้ฎีกา จึงไม่ให้ค่าทนายความชั้นฎีกา

Share