คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินดังกล่าว หาได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินไม่สัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะดังนั้น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนดอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์มียอดหนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519 ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 789,363.40 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินไว้กับโจทก์ 6 ฉบับ สั่งให้บริษัท ช. เกษตรสิน จำกัด เป็นผู้จ่ายเงินทั้ง 6 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท ลงวันที่ 26 กันยายน 2517 วันที่ 1, 7, 9 ตุลาคม 2517 วันละฉบับและลงวันที่ 2 ตุลาคม 2517 รวม 2 ฉบับ จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัลกับเข้าค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินโดยยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 ไว้โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 โดยจำเลยที่ 1 รับรองว่าตั๋วเงินดังกล่าวมีเงินพอจ่าย ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน และยอมให้โจทก์ผู้ทรงตั๋วผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่ายเงิน เพื่อการรับรองหรือเพื่อการชำระเงินไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ หากโจทก์ไม่ได้รับเงินด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 1 ยอมใช้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับ โจทก์ส่งตั๋วแลกเงินไปเรียกเก็บเงินกับผู้จ่ายแต่เรียกเก็บไม่ได้จึงทวงถามผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินก็ได้รับการปฏิเสธ จำเลยจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงิน 6 ฉบับพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่สัญญาแต่ละฉบับถึงกำหนดวันที่ 11 พฤศิกายน 2519 เป็นเงินดอกเบี้ย 87,701.30 บาท วันที่ 23 กรกฎาคม 2516 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาจำนองที่ดินกับหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ 2396 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองและหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ 2 ฉบับ ยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวและแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลยทุกคนแล้ว จำเลยทุกคนเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ไถ่จำนองกับโจทก์เป็นเงิน 1,177,064.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 789,363.40 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 300,00 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองกับโจทก์เสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ถ้าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์อื่นขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2ทำสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาค้ำประกันจริงตามฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 4ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ 2 ฉบับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 คนละ 200,000 บาท และจำเลยที่ 2ค้ำประกันร่วมกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 ลงชื่อเป็นผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงิน 6 ฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 4 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันคนละ 200,000บาท จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงิน 6 ฉบับ 300,000 บาทและดอกเบี้ย ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั๋วแลกเงินตามฟ้องทั้ง 6 ฉบับ ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 จำเลยที่ 2 ที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับอาวัลพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 938, 689

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 762,441.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2519 จนถึงวันที่ 4 กันยายน 2519 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีโดยไม่ทบต้น ถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ตั๋วเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2519 อันเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินไว้กับโจทก์ 6 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินนั้น และเข้าค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินโดยยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดโจทก์ส่งไปเรียกเก็บเงินจากผู้จ่ายแต่เรียกเก็บไม่ได้ จึงทวงถามผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินก็ได้รับการปฏิเสธ จำเลยต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วเงินทั้ง 6 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ และให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินดังกล่าว หาได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินไม่ สัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนดอายุความ10 ปี เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 855/2520 ระหว่างธนาคารเอเชียทรัสต์จำกัด โจทก์ นางเซียมเกียว แซ่เบ๊ จำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน2519 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 4 และที่ 5ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายืน

Share