แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยร่วมบุตรโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวสถานบันเทิงโดยจำเลยร่วมให้ ฉ. เป็นผู้ขับไปยังสถานบันเทิง ครั้นเลิกจากเที่ยวเมื่อเวลา 3 นาฬิกาของวันใหม่เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 ขับกลับจากสถานบันเทิงแล้วเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปเที่ยวและที่จำเลยร่วมยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์พาจำเลยร่วมกับเพื่อน ๆ กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์แทน ฉ. การที่จำเลยที่ 1 อาสาขับรถยนต์โจทก์ตอนขากลับต้องถือว่าเป็นการสุดวิสัยของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะรู้เห็นได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่ในขณะนั้นแล้ว เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้ไปกระทำหรือรู้แล้วยังยอมให้กระทำดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แต่หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3
จำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และมีอาการเมาสุรา การที่จำเลยร่วมนำรถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นมารดาออกไปให้จำเลยที่ 1 ขับไปเที่ยวเช่นนี้ ตามพฤติการณ์ต้องเล็งเห็นว่าจะต้องเกิดอุบัติภัยอย่างแน่แท้ จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมมีส่วนก่อให้เกิดเหตุละเมิดในคดีนี้ด้วย จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ไปตามถนนรัชดาภิเษกจากสี่แยกพระราม 9 มุ่งหน้าไปสี่แยกรัชโยธินโดยความประมาทด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้รถยนต์พุ่งชนเกาะกลางถนนและพลิกคว่ำเสียหายทั้งคันจนใช้การไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 461,859.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 430,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวตามคำสั่งของนางสาวอภันตรีบุตรโจทก์ด้วยความระมัดระวังจากถนนรัชดาภิเษกไปสี่แยกรัชโยธิน มีรถยนต์กระบะแล่นตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หลบจึงเสียหลักพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำ เป็นเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีส่วนประมาทหรือไม่ระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่อย่างไรที่ทำให้จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวอภันตรี ภัสสัตยางกูรเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า วันเกิดเหตุจำเลยร่วมขออนุญาตนำรถยนต์ของโจทก์ไปใช้โดยให้นายฉัตรธนะ ปรีชาชาญ เป็นผู้ขับ ต่อมาจำเลยที่ 1 อ้างว่ามีความสามารถขับรถยนต์เป็นอย่างดีได้ขอขับรถยนต์แทนโดยจำเลยร่วมมิได้วานหรือใช้ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์ด้วยความเร็วสูงไปตามถนนรัชดาภิเษกถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีจุดกลับรถและมีรถยนต์กระบะกลับรถอยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชะลอกลับเร่งความเร็วเพื่อหลบรถยนต์กระบะเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหลักพุ่งชนเกาะกลางถนนพลิกคว่ำได้รับความเสียหายจำเลยร่วมมิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือละเมิด จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยร่วมให้รับผิด จำเลยทั้งสามเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเกินกำหนด 1 ปี จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยร่วม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ – 8195 กรุงเทพมหานคร ตามสำเนารายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.13เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2535 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยร่วมได้ขออนุญาตนายนพเลิศน้องชายโจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ เนื่องจากขณะนั้นโจทก์เดินทางไปทำธุรกิจต่างประเทศยังไม่กลับมา หลังจากได้รถยนต์แล้วจำเลยร่วมได้ให้นายฉัตรธนะขับไปเที่ยวที่สถานบันเทิงย่านถนนรัชดาภิเษกโดยมีเพื่อนร่วมไปด้วย คือจำเลยที่ 1นายพรเทพ อนุพันธ์ และคนอื่นรวม 6 คน จำเลยร่วมกับเพื่อนเที่ยวสถานบันเทิงถึงเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันที่ 7 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวพาจำเลยร่วมกับเพื่อนกลับบ้าน ระหว่างทางรถยนต์เกิดพลิกคว่ำเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.10…
ปัญหาในประการที่สามที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยขับรถยนต์ของโจทก์ไปพลิกคว่ำเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์ไปตามถนนรัชดาภิเษกถึงที่เกิดเหตุซึ่งอยู่เลยสี่แยกถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนลาดพร้าว มีรถยนต์กระบะแล่นตัดหน้ากระทันหันโดยไม่ได้ให้สัญญาณไฟเลี้ยวเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหยุดรถได้ทันท่วงที จึงต้องหักหลบไปทางขวาทำให้รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงเกิดจากรถยนต์กระบะมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 นั้น เกี่ยวกับปัญหานี้ จำเลยร่วมซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขับมาถึงสี่แยกถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนลาดพร้าวได้หยุดรถเป็นคันแรกเพราะติดสัญญาไฟจราจรสีแดงเมื่อมองไปข้างหน้าเห็นรถยนต์ที่แล่นสวนทางมาได้เลี้ยวรถกลับตรงจุดกลับรถซึ่งอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 100 เมตร ครั้นได้ไฟจราจรสีเขียว จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าช่องเดินรถขวาสุดด้วยความเร็วสูง เมื่อขับไปถึงใกล้บริเวณจุดกลับรถยนต์ที่จอดรถเลี้ยวกลับรถนั้นได้เลี้ยวพ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เร่งความเร็วขึ้นอีกต่อจากนั้นรถยนต์เกิดเสียหลักพุ่งขึ้นบนเกาะกลางถนนจะชนเสาไฟฟ้าสาธารณะแต่จำเลยที่ 1 หักหลบไปทางซ้ายแล้วรถยนต์พลิกคว่ำตกลงไปในบริเวณที่มีการขุดถนนซ่อมผิวจราจร ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถของโจทก์ถึงสี่แยกดังกล่าวได้หยุดรถเนื่องจากมีสัญญาณไฟจราจรให้หยุดจากจุดที่จำเลยที่ 1 หยุดรถรอสัญญาณไฟจราจรมองไปข้างหน้าเมื่อพ้นสี่แยกไปแล้วทางด้านขวามือเห็นจุดกลับรถอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 50 เมตร ส่วนช่องเดินรถด้านซ้ายอยู่ระหว่างขุดถนนก่อสร้างสะพานลอยและมีรถเครนจอดอยู่ห่างจากจุดที่จำเลยที่ 1 หยุดรถประมาณ 60 เมตร เมื่อจำเลยที่ 1 ออกรถจากจุดที่รอสัญญาณไฟไปได้ประมาณ 20 เมตรเห็นรถยนต์กระบะสีขาวเลี้ยวรถกลับตรงจุดกลับรถแล้วไปจอดอยู่หลังรถเครน เมื่อจำเลยที่ 1 ขับต่อไปอีกประมาณ 5 เมตร จะถึงรถยนต์กระบะปรากฏว่า รถยนต์กระบะคันดังกล่าวหักรถล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ให้สัญญาณไฟ จำเลยที่ 1จึงหักหลบออกทางขวาและเสียหลักพุ่งขึ้นไปบนเกาะกลางถนนรถยนต์จะชนเสาไฟฟ้าจึงหักหลบกลับมาทางซ้ายเป็นเหตุให้เสียหลักตกไปในหลุมที่ขุดไว้เพื่อก่อสร้างสะพานลอย จากคำเบิกความของจำเลยร่วมและจำเลยที่ 1 แสดงว่าก่อนที่จำเลยที่ 1จะขับออกจากจุดที่รอสัญญาณไฟที่สี่แยกขณะนั้นทางข้างหน้าซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 ถึง 60เมตร มีทั้งจุดที่ให้เลี้ยวรถกลับและมีรถเครนจอดอยู่ จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าทางข้างหน้าเหลือช่องเดินรถเพียง 1 ช่อง เท่านั้น ซึ่งโดยวิญญูชนธรรมดาแล้วในสภาวะเช่นนั้นผู้ขับรถจักต้องชะลอความเร็วของรถลงและต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากจำเลยที่ 1 ออกรถจากจุดที่รอสัญญาณไฟโดยใช้ความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขณะรถยนต์กระบะล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ใช้ความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยร่วมแล้วเห็นว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่น่าจะได้รับความเสียหายตามสภาพที่เห็นในภาพหมาย จ.10ซึ่งปรากฏว่าเสียหายรอบทั้งคันรถ จำเลยที่ 1 จะต้องออกรถจากสี่แยกด้วยความเร็วครั้นขับไปถึงใกล้บริเวณจุดกลับรถแทนที่จะชะลอความเร็วจำเลยที่ 1 กลับเร่งความเร็วขึ้นอย่างแน่นอนดังที่จำเลยร่วมเบิกความ และในข้อนี้มีเหตุผลสนับสนุนเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องขับไปด้วยความเร็วสูง กล่าวคือได้ความจากนายพรเทพที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยร่วมว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักชนเกาะกลางถนนโดยล้อหน้าด้านขวาขึ้นไปเกยบนเกาะกลางถนน ส่วนล้อหลังขวากระแทกกับขอบเกาะกลางถนนไถลไปจะชนเสาไฟฟ้า จำเลยที่ 1 จึงหักหลบมาทางซ้ายแล้วหมุน 2 ถึง 3 รอบ จากนั้นจึงพลิกคว่ำลงในหลุมที่ขุดเพื่อสร้างสะพานลอย หากจำเลยที่ 1 ขับด้วยความเร็วไม่สูงแล้วรถยนต์คงไม่ถึงกับหมุน 2 ถึง 3 รอบ หรือล้อรถเกยขึ้นไปบนเกาะกลางถนนดังกล่าวนอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกชูศักดิ์ ชาญกว้าง รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินอันเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้พยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่า เมื่อดูตามสภาพความเสียหายของรถยนต์แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องขับรถมาด้วยความเร็วสูงและจากการสอบถามจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะคันที่แล่นตัดหน้าแต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ตกใจจึงหักรถหลบกะทันหันแล้วเกิดพลิกคว่ำเห็นว่า การที่รถยนต์เกิดเสียหลักพลิกคว่ำนั้นมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเกิดจากการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่ในวัยคึกคะนอง อีกทั้งก่อนเกิดเหตุก็ได้ดื่มสุรามาบ้างประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังขับรถไม่ชำนาญ จะเห็นได้ว่ายังไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขณะเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยขับรถยนต์ของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดโดยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สี่มีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดคดีนี้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว กรณีผู้เยาว์ทำละเมิดบิดามารดาย่อมต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์นั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ตามข้อเท็จจริงคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม2535 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยร่วมบุตรโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆไปเที่ยวสถานบันเทิง โดยในชั้นแรกจำเลยร่วมให้นายฉัตรธนะเป็นผู้ขับไปยังสถานบันเทิงครั้นเลิกจากเที่ยวเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันใหม่เพิ่งเปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 ขับตอนขากลับจากสถานบันเทิงแล้วเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปเที่ยวและการที่จำเลยร่วมยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์พาจำเลยร่วมกับเพื่อน ๆ กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะต้องไปทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์แทนนายฉัตรธนะ การที่จำเลยที่ 1 ได้อาสาขับรถยนต์โจทก์ตอนขากลับต้องถือว่าเป็นการสุดวิสัยของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะรู้เห็นได้ รูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่ในขณะนั้นแล้วเพราะไม่ได้ความเลยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้ไปกระทำหรือรู้แล้วยังยอมให้กระทำดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ในผลแห่งละเมิดที่บุตรผู้เยาว์กระทำลงเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงยังปรากฏต่อมาว่าในตอนเช้าวันเกิดเหตุนั้นเองจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายในการเกิดเหตุครั้งนี้บางส่วนให้แก่เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ – 8159 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.14 ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3
ปัญหาฎีกาข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดนั้น ในข้อนี้โจทก์มีนายนพเลิศผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อรถยนต์มาเมื่อปี 2531 ในราคา 850,000 บาท ตามสำเนารายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.13ในขณะเกิดเหตุสามารถขายได้ในราคา 700,000 บาท เห็นว่า โจทก์ได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวมาแล้วประมาณ 5 ปี จึงไม่น่าจะขายได้ในราคา 700,000 บาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคาจากการใช้เป็นเวลา 5 ปี แล้วน่าจะคงเหลือราคารถยนต์ที่แท้จริงประมาณ 550,000บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอกตามสภาพที่เสียหายภายหลังเกิดเหตุในราคา 270,000 บาท โจทก์คงได้รับความเสียหายเป็นเงินเพียง 280,000 บาท เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยค่าเสียหายไว้โดยละเอียดเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตอนขาไปเที่ยวสถานบันเทิงจำเลยร่วมได้ให้นายฉัตรธนะเป็นผู้ขับรถพาจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 และเพื่อน ๆ ไป ขณะที่อยู่ในสถานบันเทิงปรากฏว่าตัวจำเลยร่วมก็เป็นผู้ยึดถือกุญแจรถยนต์ไว้ เวลาจะกลับก็น่าจะมอบให้นายฉัตรธนะเป็นผู้ขับรถกลับเช่นเดิม แต่จำเลยร่วมก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และยังได้ความจากจำเลยร่วมว่า ก่อนจะกลับจากสถานบันเทิงจำเลยที่ 1 มีลักษณะอาการเมาสุราด้วย จำเลยร่วมน่าจะฉุกคิดถึงความปลอดภัยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยร่วมจะยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับบ้าน ที่จำเลยร่วมอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 แย่งเอากุญแจรถยนต์ไปนั้นก็มีแต่คำเบิกความของจำเลยร่วมที่อ้างลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ เมื่อพิเคราะห์ถึงคำเบิกความของนายพรเทพพยานจำเลยทั้งสามซึ่งนั่งมาในรถยนต์น่าจะเป็นพยานคนกลางที่รู้เห็นได้ดีโดยพยานเบิกความว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ถือกุญแจรถยนต์อยู่ก่อน ต่อมากุญแจรถยนต์ไปอยู่ที่จำเลยที่ 1 พยานไม่เห็นจำเลยที่ 1 แย่งกุญแจรถยนต์จากจำเลยร่วม จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้แย่งกุญแจรถยนต์ไปจากจำเลยร่วม และถึงแม้ว่าจำเลยที่ 1 แย่งกุญแจรถยนต์จริงแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจำเลยร่วมต้องไม่ยอมและสามารถเอาคืนได้ เมื่อจำเลยร่วมเห็นอยู่แล้วว่าเพื่อน ๆ ของจำเลยร่วมรวมทั้งจำเลยที่ 1 ต่างก็เป็นผู้เยาว์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์การที่จำเลยร่วมนำรถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยร่วมออกไปให้เพื่อนขับไปเที่ยวเช่นนี้ ตามพฤติการณ์ต้องเล็งเห็นว่าจะต้องเกิดอุบัติภัยขึ้นอย่างแน่แท้ ตัวจำเลยร่วมก็นั่งคู่ไปกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถ จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมมีส่วนก่อให้เกิดเหตุละเมิดในคดีนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์