คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้ จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องเคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าใครเป็นคนครอบครองเงิน เงินสูญหายอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบจำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาทโจทก์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสอบสวนผลการสอบสวนไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการที่เงินสดสูญหายไป แต่จำเลยยอมรับว่าเงินสดที่ขาดบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นคนครอบครองเงินเงินสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งจำเลยก็ให้การว่าเงินได้ขาดหายไปขณะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการและสมุห์บัญชี ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อหรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานที่ดีของโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแล้ว ยังเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดหน้าที่ที่จำเลยต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดอายุความเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี แม้คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้รับจำเลยกลับเข้าทำงานหรือใช้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไปจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย แต่เหตุที่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมคือ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยจำเลยมิได้กระทำผิด ซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยเพราะจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปหรือไม่ แม้คดีก่อนจำเลยจะเป็นฝ่ายฟ้องโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องจำเลย แต่โจทก์จำเลยในคดีทั้งสองก็เป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยจึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องฟังว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไป สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม หมายถึง โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งนับถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี แล้วไม่ได้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างส่งก่อนวันฟ้องนับย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องได้ หาใช่ว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแล้ว สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งจะขาดอายุความไปทั้งหมดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สาขาลำปางเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ จำเลยเป็นลูกจ้างทำงานให้โจทก์ โดยเป็นผู้ช่วยผู้รักษาเงินสาขาลำปาง มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบควบคุมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ ระหว่างวันที่ 20 ถึง 27 พฤษภาคม 2526 จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ทำให้เงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปหลังจากนำเงินสดออกจากตู้เซฟเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท โจทก์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสอบสวน ผลการสอบสวนไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการที่เงินสดสูญหายไปแต่จำเลยยอมรับว่าเงินสดที่ขาดบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยและตกลงจะชดใช้เงินคืนให้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายโจทก์จึงมีคำสั่งไล่จำเลยออก ศาลแรงงานกลาง และศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยได้ โจทก์เสียหายขอเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงิน 750,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน1,740,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เพราะคดีนี้มิใช่คดีแรงงานหรือผิดสัญญาตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ทราบว่าเงินสูญหายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 และได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย เป็นเรื่องการกระทำละเมิดแต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี จึงขาดอายุความ จำเลยทำหน้าที่ตำแหน่งผู้ช่วยการเงิน มีนายอุดรเป็นผู้จัดการของโจทก์สาขาลำปาง นางทัศนีย์เป็นสมุห์บัญชีซึ่งผู้จัดการและสมุห์บัญชีต่างถือกุญแจคนละดอกเช่นเดียวกับจำเลย ต้องมีการเปิดพร้อมกัน จำเลยหาได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดชอบโจทก์บรรยายฟ้องเคลือบคลุมไม่ระบุแจ้งชัดว่าใครเป็นผู้ครอบครองเงินและจำเลยทำอย่างไรอันเป็นการกระทำละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม2526 เป็นต้นไป เพราะสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระมีกำหนด5 ปี จำเลยไม่เคยตกลงจะใช้หนี้โจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยเคยรายงานโจทก์ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 2189/2528 และศาลฎีกามีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 3341/2528 กรณีจำเลยในคดีนี้ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5และคู่ความขออ้างคำเบิกความพยานในสำนวนคดีดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล
ศาลแรงงานกลาง กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
(1) ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
(2) จำเลยต้องรับผิดกรณีเงินสูญหายต่อโจทก์หรือไม่
(3) ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่เงินสูญหายเคลือบคลุมหรือไม่
(4) โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด
คู่ความแถลงขอให้ศาลชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความ และไม่ติดใจสืบพยาน ให้ศาลมีคำพิพากษาตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2189/2528 ของศาลแรงงานกลาง
ต่อมาในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางได้แจ้งให้คู่ความทราบว่า ไม่อาจนำสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2189/2528 ของศาลแรงงานกลางมาผูกติดไว้หรือใช้อ้างได้ เนื่องจากทางธุรการของศาลได้ปลดเผาเมื่อเก็บครบ 5 ปีขึ้นไป จำเลยแถลงขอสืบพยาน โจทก์แถลงติดใจเฉพาะอ้างคำพิพากษาคดีดังกล่าวแต่หากจำเลยจะสืบพยาน โจทก์ก็ขออนุญาตศาลถามพยานของจำเลยด้วย และคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า มีการพบว่าเงินสูญหายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 จำเลยทำหนังสือตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้อง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม2526 ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 โจทก์มีคำสั่งไล่จำเลยออก โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2536
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2189/2528ของศาลแรงงานกลาง ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 1 ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 ว่า จำเลยต้องรับผิดกรณีเงินสูญหายต่อโจทก์หรือไม่ ศาลเห็นว่าคำพิพากษาในคดีก่อนผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์กับพยานจำเลย และวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยต้องรับผิดกรณีเงินสูญหายต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่เงินสูญหายไม่เคลือบคลุม โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเริ่มนับตั้งแต่วันฟ้องคดีย้อนหลังไป5 ปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคำนวณตั้งแต่วันที่26 พฤษภาคม 2536 ย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เห็นว่า จำเลยได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้คดีในคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว และแม้ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าใครเป็นคนครอบครองเงิน เงินสูญหายอย่างไรและใครเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์นั้นเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายขาดบัญชีไปจำนวน1,000,000 บาท โจทก์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสอบสวนผลการสอบสวนไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการที่เงินสดสูญหายไป แต่จำเลยยอมรับว่าเงินสดที่ขาดบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นคนครอบครองเงิน เงินสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งจำเลยก็ให้การว่าเงินได้ขาดหายไปขณะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการและสมุห์บัญชี ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อหรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่ขอรับผิดต่อโจทก์ แสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิด เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานที่ดีของโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดแล้ว ยังเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดหน้าที่ที่จำเลยต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานด้วยซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดอายุความเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี เงินของโจทก์สูญหายไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2536 ภายในกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 3341/2528ของศาลฎีกา ที่จำเลยได้ฟ้องโจทก์ไม่ผูกพันจำเลย ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษานอกพยานหลักฐานในสำนวน นั้น เห็นว่า แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยได้ฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้รับจำเลยกลับเข้าทำงานหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไปจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยก็ตาม แต่เหตุที่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม คือ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยจำเลยมิได้กระทำผิด ซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยเพราะจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปหรือไม่ และแม้คดีก่อนจำเลยจะเป็นฝ่ายฟ้องโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องจำเลย แต่โจทก์จำเลยในคดีทั้งสองก็เป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยจึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องฟังว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำละเมิดนั้น เห็นว่าสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่มีกำหนดอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม หมายถึง โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งนับถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี แล้วไม่ได้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างส่งก่อนวันฟ้องนับย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องได้ หาใช่ว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแล้ว สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งจะขาดอายุความไปทั้งหมดไม่
พิพากษายืน

Share