คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานก็ตามแต่ถ้าลูกจ้างยินยอมนายจ้างจะจ่าย ณ สถานที่อื่นก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมไปรับค่าจ้าง ณ สำนักงานของนายจ้าง หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว และเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง จึงไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ส่วนการที่นายจ้างได้จัดรถยนต์ไปรับลูกจ้างก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเท่านั้น หาทำให้นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับเหมาก่อสร้างโครงการคลองส่งน้ำที่ตำบลพะทาย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม งานเสร็จวันที่ 26มีนาคม 2529 วันรุ่งขึ้นลูกจ้างได้ขออาศัยรถยนต์ของโจทก์ซึ่งเดินทางจากหน่วยงานเข้าตัวจังหวัดนครพนม เพื่อไปต่อรถยนต์โดยสารกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างเดินทางรถยนต์พลิกคว่ำเป็นเหตุให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ ทายาทลูกจ้างที่ถึงแก่ความตายและลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้เรียกเงินทดแทนต่อแรงงานจังหวัดนครพนม พนักงานทดแทนวินิจฉัยว่าลูกจ้างทุกคนได้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมแรงงาน อธิบดีกรมแรงงานพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทน ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในคดีนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว เพียงแต่อยู่ในระหว่างที่ลูกจ้างเดินทางไปรับค่าจ้างจากนายจ้าง ณ ที่สำนักงานของนายจ้างเท่านั้น ซึ่งแม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 28 จะกำหนดว่าให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานก็ตาม แต่ถ้าได้รับความยินยอมของลูกจ้างนายจ้างจะจ่าย ณ สถานที่อื่นก็ได้ ได้ความว่าการที่โจทก์ให้ลูกจ้างไปรับค่าจ้าง ณ สำนักงานของโจทก์ลูกจ้างทุกคนได้ให้ความยินยอมด้วยแล้ว ขณะประสบอุบัติเหตุซึ่งอยู่ในระหว่างลูกจ้างเดินทางไปรับค่าจ้างจึงไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือเนื่องจากการป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างอันจะถือว่าเป็นการ “ประสบอันตราย” โดยนัยแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 2 แม้จะได้ความว่าโจทก์เองเป็นผู้จัดรถยนต์ไปรับลูกจ้าง ณสถานที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อนำไปรับค่าจ้าง ก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างด้วยยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานที่12/2530 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 เสีย

Share