แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยขายที่พิพาทให้ผู้ตายแปลงเดียว ผู้ตายได้ทำหนังสือให้โจทก์ไว้ว่าถ้าผู้ตายๆก่อนโจทก์ ที่ที่โจทก์ขายให้นี้จะคืนยกให้แก่โจทก์ แต่ถ้าผู้ตายมีชีวิตอยู่ จะถือกรรมสิทธิต่อไปโดยผู้ตายเขียนหนังสือนั้นเองทั้งฉะบับและลงชื่อเป็นผู้เขียนกับมีคนอื่นลงชื่อเป็นพะยานสามคน ดังนี้ ถือว่าหนังสือดังกล่าว มีลักษณะเป็นพินัยกรรม์ เมื่อผู้ตายตายก่อนโจทก์ ที่พิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรายพิพาท และห้ามจำเลย โดยอ้างว่า ถ.ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่รายนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือที่ว่าไม่ใช่พินัยกรรม ได้ความว่าโจทก์ได้ขายที่บ้านโฉนดที่ ๕๖๑๙ ให้แก่ ถ. ครั้งหนึ่ง นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้วโจทก์ไม่เคยขายที่ดินแปลงอื่นให้ ถ.เลย ถ.ได้ทำหนังสือฉบับหนึ่งมีข้อความว่า ถ้า ถ.ตายก่อน ที่ที่โจทก์ขายให้นี้ จะคืนยกให้โจทก์เป็นกรรมสิทธิ ถ้า ถ.มีชีวิตอยู่ ถ.จะถือเป็นกรรมสิทธิต่อไป หนังสือนี้ ถ.เขียนเองทั้งฉบับและลงชื่อเป็นผู้เขียน กับมีผู้อื่นลงชื่อเป็นพะยาน ๓ คน ต่อมา ถ.ตายก่อนโจทก์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นต้องกันว่า หนังสือของ ถ.ผู้ตายดังกล่าวมีลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๖๔๖,๑๖๔๗,๕๓๖ เมื่อ ถ.ตายก่อนโจทก์ ๆ ย่อมได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาท พิพากษาห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำที่ว่ “จะคืนยกให้” เมื่ออ่านรวมกับข้อความอื่น ๆ คงแปลได้ว่า ถ.ตั้งใจยกที่ดินรายนี้ให้แก่โจทก์เมื่อ ถ.ตายก่อนโจทก์ จึงฟังเป็นพินัยกรรมของ ถ.ได้ ทั้งที่ดินที่โจทก์ขายให้ ถ.ก็คงมีแปลงพิพาทแปลงเดียวเท่านั้น จะว่าเป็นทรัพย์สินที่ระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนนั้นหาได้ไม่
พิพากษายืน.