คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 326 มีความหมายแต่เพียงว่า บุคคลผู้ชำระหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จให้แก่ตนเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานใช้ยันต่อเจ้าหนี้ว่าตนได้ชำระหนี้แล้ว หากเป็นการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงผู้ชำระหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้เวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นได้ด้วย แต่ไม่ได้หมายความถึงว่าหากไม่มีใบเสร็จเป็นสำคัญ หรือไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือไม่มีการขีดฆ่าเอกสารนั้นแล้ว ลูกหนี้จะไม่อาจนำสืบด้วยพยานหลักฐานอย่างอื่นว่ามีการชำระหนี้แล้ว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คที่ ม. นำมาขายลดไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับดังกล่าว ลายมือชื่อที่ปรากฏในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 หาใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 ที่ต้องนำสืบว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อปลอมไม่
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ ม. ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 203,750 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 พี่สาวของจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายมังกร และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2546 และของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 เมษายน 2546) ต้องไม่เกิน 3,750 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายมังกร ร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางมณี ทายาทของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งนางมณี เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 4 ว่า นายมังกรเคยเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมที่บางอ้อริเวอร์ไซด์ โดยนายมังกรซื้อมาในราคา 400,000 ถึง 500,000 บาท แต่ผ่อนชำระราคาไปเพียง 70,000 ถึง 80,000 บาท เท่านั้น หลังจากนั้นนายมังกรโอนคอนโดมิเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ยืนยันว่าเป็นการโอนให้เพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความรับว่านายมังกรบอกโจทก์ว่าเป็นการโอนให้เพื่อชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ 30,000 บาท ส่วนอีก 50,000 บาท ที่โจทก์ไม่เบิกความถึงเลยย่อมเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 นั่นเอง เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่โจทก์จะคิดหักเอาราคาคอนโดมิเนียมไว้เป็นค่าดอกเบี้ยโดยไม่หักกลบลบหนี้กับหนี้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ด้วย คำเบิกความของโจทก์ในข้อนี้เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ที่ยืนยันว่า ก่อนที่นายมังกรจะถึงแก่ความตาย ภริยาของนายมังกรเคยบอกจำเลยที่ 4 ว่านายมังกรโอนคอนโดมิเนียมที่บางอ้อริเวอร์ไซด์ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ยอมรับเอาคอนโดมิเนียมจากนายมังกรเป็นการชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 เมื่อเป็นเช่นนี้หนี้ตามเช็คฉบับนั้นจึงเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คฉบับนั้นย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ ด้วย …” ที่โจทก์ฎีกาว่า หากนายมังกรโอนคอนโดมิเนียมชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์จริง นายมังกรก็ชอบที่จะขอรับเช็คฉบับดังกล่าวคืนจากโจทก์ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 ที่บัญญัติว่า “บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้น และถ้าหนี้นั้นได้ชำระสิ้นเชิงแล้ว ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ …” การที่เช็คเอกสารหมาย จ.1 ยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ย่อมเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่านายมังกรยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายแต่เพียงว่า บุคคลผู้ชำระหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จให้แก่ตนเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ยันต่อเจ้าหนี้ว่าตนได้ชำระหนี้แล้ว หากเป็นการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงผู้ชำระหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้เวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นได้ด้วย แต่ไม่ได้หมายความไปถึงว่าหากไม่มีใบเสร็จเป็นสำคัญ หรือไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือไม่มีการขีดฆ่าเอกสารนั้นแล้ว ลูกหนี้จะไม่อาจนำสืบด้วยพยานหลักฐานอย่างอื่นว่ามีการชำระหนี้แล้วตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 ไว้ต่อหน้าโจทก์ แต่จำเลยที่ 4 ต่อสู้ว่าลายมือชื่อที่สลักหลังในเช็คฉบับนั้นเป็นลายมือชื่อปลอม ภาระการพิสูจน์ย่อมตกอยู่แก่จำเลยที่ 4 ที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า มีการปลอมลายมือชื่อกันจริง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 ที่นายมังกรนำมาขายลดไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับดังกล่าว ลายมือชื่อที่ปรากฏในเช็คฉบับนั้นเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คฉบับนั้นเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 หาใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 ที่ต้องนำสืบว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คฉบับนั้นเป็นลายมือชื่อปลอมดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 ต่อหน้าโจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างส่งตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ในสำเนาใบเสนอราคา ใบวางบิลและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อบัญชีเงินฝากตามเอกสารหมาย จ.16 ศาลฎีกาได้เปรียบเทียบลายมือชื่อที่ปรากฏด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ที่ด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.1 ลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ในเอกสารหมาย จ.16 ลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ในใบแต่งทนายความในคดีนี้ ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ในคำเบิกความของจำเลยที่ 4 และในรายงานกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2546 แล้ว ปรากฏว่าลายมือชื่อที่ปรากฏด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 มีลักษณะการลากลายเส้นและน้ำหนักที่ลงบนลายเส้นแตกต่างจากลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ในเอกสารอย่างเห็นได้ชัด การที่นายมังกรนำเช็คฉบับใหม่มาเปลี่ยนกับเช็คเดิมหลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับประโยชน์จากการที่ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คให้นายมังกรแต่ประการใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับลักษณะของลายมือชื่อด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 ที่แตกต่างไปจากลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 แล้วกรณีอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 แต่นายมังกรอ้างต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คให้ดังเช่นในครั้งก่อนๆ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้สลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.2 ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วม กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายมังกร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share