แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันตามฟ้องข้อ ก.เสร็จสิ้นแล้ว เป็นความผิดกรรมแรก ต่อมาจำเลยที่ 3 ถือชะแลงเหล็กเป็นอาวุธบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และการทำร้ายซึ่งกันและกันของจำเลยทั้งสามตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งเป็นกรรมหลัง ซึ่งในกรรมหลังนี้ การบุกรุกของจำเลยที่ 3 ก็โดยมีเจตนาจะเข้าไปทำร้ายและได้ทำร้ายจำเลยที่ 1 การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 รับอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ ค.
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 362, 365, 391, 83, 91 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 297 คนละ 3 ปี จำเลยที่ 3 ตามมาตรา 295 กำหนด 6 เดือนและมาตรา 365 กำหนด 1 ปี รวม 1ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 กำหนด 8 เดือน รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 1 ปี ริบชะแลงเหล็กของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 295 และ 297 ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 295, 362,364, 365, 391 ให้ลงโทษตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปีลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามฟ้องของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่ากระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่งกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันตามฟ้องข้อ ก. ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และใช้ชะแลงเหล็กทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ข. และต่อมาจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 และพวกอีก 1 คน ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่งต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 3 ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1ได้รับบาดเจ็บตามฟ้องข้อ ค. จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นจริง เมื่อพิเคราะห์ฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสามทำร้ายซึ่งกันและกันตามฟ้องข้อ ก. เสร็จสิ้นแล้วเป็นความผิดกรรมแรก ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ถือชะแลงเหล็กเป็นอาวุธบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2แล้วเกิดทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันขึ้นอีก จึงเห็นว่าการบุกรุกของจำเลยที่ 3และการทำร้ายซึ่งกันและกันของจำเลยทั้งสามตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.เป็นความผิดอีกรรมหนึ่งเป็นกรรมหลัง ต้องเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดสำหรับกรรมหลังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ก็โดยมีเจตนาจะเข้าไปทำร้ายจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญเพราะถือชะแลงเหล็กเข้าไปและใช้ชะแลงเหล็กทำร้ายจำเลยที่ 1 การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 บาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ ค.
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ตามฟ้องโจทก์ข้อ ก. กระทงหนึ่งจำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297ตามฟ้องข้อ ค. อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 2 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ตามฟ้องข้อ ก. กระทงหนึ่งจำคุก1 เดือนและมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 365ตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปีรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 3 กำหนด 1 ปี 1 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คนละ 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 6 เดือน 15 วันโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”