คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์โอนขายสินค้าที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้า ขณะที่นำเข้าตามมาตรา 79 ตรี (11) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามมูลค่าของสินค้าดังกล่าวในวันโอนขาย ตามมาตรา 79 ทวิ (4) และมาตรา 84 แต่กฎหมายมิได้บัญญัติกฎเกณฑ์ในการคำนวณมูลค่าของสินค้าไว้ คงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 78 ทวิ (6) เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันโอน เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 7)เรื่องให้ใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อกำหนดมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายรับ (ราคาซี.ไอ.เอฟ.บวกด้วยค่าอากรขาเข้าและกำไรมาตรฐาน) มาใช้เทียบเคียงในการคำนวณมูลค่าสินค้าของโจทก์โดยเอาราคาซี.ไอ.เอฟ.บวกด้วยค่าอากรขาเข้า แล้วหักค่าเสื่อมราคาให้ได้ผลลัพธ์เท่าใดถือเป็นมูลค่าของสินค้าหรือราคาตลาดของสินค้าในวันโอนแต่ไม่ได้เอากำไรมาตรฐานบวกเข้าไปด้วยการที่ไม่ได้เอากำไรมาตรฐานบวกเข้าด้วยนั้น ทำให้มูลค่าของสินค้าของโจทก์ถูกลง การคำนวณภาษีย่อมลดลงไปด้วยซึ่งเป็นผลดีแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้ รับความเสียหายเพราะเหตุนี้ ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าการประเมินไม่ชอบเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้
ปัญหาว่าศาลควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นคนละกรณีกับปัญหาตามที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่อ้างว่าประเมินโดยไม่ชอบดังนั้น ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มด้วยโจทก์ก็ชอบที่จะมีคำขอมาท้ายฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอในข้อนี้มาด้วยศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้อง เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งการประเมินภาษีการค้าว่าโจทก์ได้โอนขายแท่นพิมพ์ที่นำเข้ามาโดยได้รับยกเว้นภาษีการค้า จึงต้องเสียภาษีการค้าจากมูลค่าสินค้าแต่โจทก์มิได้เสียภาษีการค้าไว้ จึงประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มเติมพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 376,126.68 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวยังไม่ถูกต้องเพราะสูงกว่าความจริง โจทก์มีสิทธิได้รับลดหย่อนเบี้ยปรับเงินเพิ่ม แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยก็ไม่พิจารณาให้โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการให้ยกอุทธรณ์จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย

จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มเติมถูกต้องแล้ว และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณหามูลค่าของสินค้าโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าควรจะคำนวณมูลค่าของสินค้าในวันโอนตามมาตรา 79 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากรอย่างไรนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติกฎเกณฑ์ไว้ แต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ทวิ(6) ว่า ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันโอน เมื่อการโอนทรัพย์สินนั้นไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งไม่มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดกฎเกณฑ์คำนวณในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 7)ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เรื่องให้ใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อกำหนดมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายรับมาเทียบเคียงโดยเอาราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วยค่าอากรขาเข้า แล้วหักค่าเสื่อมราคาให้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2509ได้ผลลัพธ์เท่าใดก็ถือเป็นมูลค่าของสินค้าหรือราคาตลาดของสินค้าในวันโอน แต่ไม่ได้เอากำไรมาตรฐานบวกเข้าไปด้วย (ราคา ซี.ไอ.เอฟ.นี้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวให้ความหมายไว้ว่าหมายถึงราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งทางเรือไว้ด้วยแล้วส่วนกำไรมาตรฐานตามบัญชีอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้านำเข้าท้ายประกาศฉบับดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่าให้คิดในอัตราร้อยละ 16ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกอากรขาเข้า) อนึ่ง ราคา ซี.ไอ.เอฟ. และค่าอากรขาเข้าของสินค้าพิพาทซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้เอามาคำนวณนั้นก็ได้มาจากหลักฐานที่โจทก์นำมาแสดงต่อเจ้าพนักงานและเจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณไว้ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งปรากฏว่าเป็นมูลค่าของสินค้าพิพาทในวันโอน3,799,259.70 บาท และโจทก์ก็ยอมรับว่าราคาสินค้าพิพาทตามที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณมานี้ถูกต้อง เพียงแต่เถียงว่าการประเมินไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้เอากำไรมาตรฐานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) มาบวกเข้าด้วยเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้เอากำไรมาตรฐานมาบวกเข้าด้วยนั้น ทำให้มูลค่าของสินค้าพิพาทถูกลงการคำนวณภาษีก็ย่อมลดลงไปด้วยตามส่วน ซึ่งเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้วโจทก์มิได้รับความเสียหายเพราะเหตุนี้แต่อย่างใด ทั้งขัดกับคำฟ้องของโจทก์เองซึ่งอ้างว่ารายรับที่จำเลยนำมาคำนวณภาษีไม่ถูกต้องเพราะสูงกว่าความเป็นจริง ฉะนั้นการที่โจทก์มากล่าวอ้างว่าการประเมินไม่ชอบเพราะเหตุดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่ามูลค่าของสินค้าพิพาทในวันโอนควรจะเป็นราคา 2,200,000 บาท ตามราคาที่โจทก์โอนขายไปนั้นก็ขัดกับฎีกาของโจทก์เองที่อ้างว่าควรจะคิดมูลค่าของสินค้าในวันโอนขายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) ดังกล่าวแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์โอนขายให้แก่บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันกับโจทก์และโอนขายไปในราคาถูกกว่าราคาในท้องตลาดมาก จึงถือไม่ได้ว่าราคาที่โจทก์โอนขายไปนั้นเป็นมูลค่าของสินค้าอันแท้จริงในวันโอนขายเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินใหม่ได้ตามมาตรา 87 ทวิ(6) แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าวแล้ว ดังนี้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจะนำมาตรา 87 ทวิ(6) มาบังคับใช้ในกรณีนี้ไม่ได้นั้นโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาข้อต่อไปโจทก์ฎีกาว่า ศาลควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร และโจทก์ได้อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าพนักงานในการตรวจสอบไต่สวนแล้ว ทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนี้มาตรา 89 ตรี ให้ถือเป็นเงินภาษีด้วย เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่าโจทก์ควรมีสิทธิได้งดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินเสียใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีคำขอให้ศาลงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าถึงแม้มาตรา 89 ตรี จะบัญญัติว่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินภาษีก็ตาม แต่ปัญหาที่ว่าศาลควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่เป็นคนละกรณีกับปัญหาที่ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฉะนั้น ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มด้วย โจทก์ก็ชอบที่จะมีคำขอมาท้ายฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์หาได้มีคำขอในข้อนี้มาด้วยไม่เพียงแต่มีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ประเมินไม่ชอบเท่านั้น ทั้งปัญหาข้อนี้ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงไม่มีอำนาจพิพากษาให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share