แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างนั้น เพียงแต่นายจ้างปิดประกาศข้อเรียกร้อง และส่งสำเนาประกาศแก่หัวหน้าแผนกทราบเพื่อชี้แจงแก่ลูกจ้างในแผนกก็เป็นการเพียงพอแล้ว
การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างโดยลูกจ้างจัดการเอง ต้องมีการประชุมลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ในกรณีที่ข้อเรียกร้องของนายจ้างเกี่ยวกับเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้างข้อเรียกร้องนี้จึงเกี่ยวข้องกับลูกจ้างทั้งหมด การประชุมเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจึงต้องเป็นการประชุมลูกจ้างทั้งหมดเพื่อพิจารณาว่าสมควรตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนในการเจรจากับฝ่ายนายจ้างไม่ใช่เลือกตั้งกันเป็นแผนก ๆ เพราะลูกจ้างที่แผนกอื่นเลือกตั้งมาอาจไม่ใช่ผู้ที่ลูกจ้างในอีกแผนกหนึ่งประสงค์จะเลือกเป็นผู้แทนก็ได้
ถ้าผู้แทนที่เลือกตั้งมาไม่ใช่ผู้แทนของลูกจ้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างนั้นไม่ชอบ เมื่อผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้แทนลูกจ้างที่แท้จริงไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้าง ข้อตกลงนั้นทั้งฉบับไม่มีผลบังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมยังมีผลใช้บังคับจำเลยสมคบกับลูกจ้างบางกลุ่มทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งข้อตกลงดังกล่าวข้อ ๒ และข้อ ๑๒ ไม่มีผลใช้บังคับ
จำเลยให้การว่าข้อตกลงดังกล่าวชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ข้อ ๒ และข้อ ๑๒ ไม่มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าในการยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง จำเลยกระทำโดยวิธีปิดประกาศและสำเนาแจ้งข้อเรียกร้องให้หัวหน้าแผนกทั้งสิบเอ็ดแผนกทราบเพื่อชี้แจงแก่ลูกจ้างในแผนกและในการตั้งผู้แทนลูกจ้างเพื่อเข้าร่วมในการเจรจาตามข้อเรียกร้องของนายจ้างนั้น มีการเลือกตั้งเป็นแผนก ๆ โดยมีตัวแทนของแผนกต่าง ๆ ของแต่ละแผนก หรือ ๒-๓ แผนกรวม ๗ คนร่วมเป็นผู้แทนลูกจ้าง มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการแจ้งข้อเรียกร้องและการตั้งผู้แทนลูกจ้างได้กระทำโดยชอบหรือไม่ สำหรับการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา ๑๓ บัญญัติเพียงว่าต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติว่า การแจ้งเป็นหนังสือนั้นต้องแจ้งเป็นรายตัวบุคคล ฉะนั้นเมื่อจำเลยปิดประกาศข้อเรียกร้องและส่งสำเนาประกาศนั้นแก่หัวหน้าแผนกทั้งสิบเอ็ดแผนกเพื่อแจ้งแก่ลูกจ้างในแผนกก็เป็นการเพียงพอแก่ความประสงค์ของกฎหมายแล้ว ส่วนการตั้งผู้แทนลูกจ้างนั้นกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อ ๑ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกจ้างเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างโดยลูกจ้างจัดการเอง ให้ลูกจ้างจัดให้มีการประชุมลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องแล้วตกลงกันว่าผู้แทนลูกจ้างซึ่งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคนนั้นจะให้ผู้ใดเป็นผู้แทน” ฉะนั้น การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างโดยลูกจ้างจัดการเองนั้น ต้องมีการประชุมลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ปรากฏว่าข้อเรียกร้องข้อ ๒ เกี่ยวกับเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้าง ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงเกี่ยวกับลูกจ้างทั้งหมด การประชุมเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจึงต้องเป็นการประชุมลูกจ้างทั้งหมดเพื่อพิจารณาว่าสมควรตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนในการเจรจากับฝ่ายนายจ้าง ไม่ใช่เลือกตั้งกันเป็นแผนก ๆ เพราะลูกจ้างที่แผนกอื่นเลือกตั้งมาอาจไม่ใช่ผู้ที่ลูกจ้างในอีกแผนกหนึ่งประสงค์จะเลือกเป็นผู้แทนก็ได้ ดังนั้น ผู้แทนลูกจ้างที่เลือกตั้งกันมาในคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้แทนของลูกจ้างทั้งหมดตามที่กฎหมายประสงค์ การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจึงไม่ชอบ เมื่อผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้แทนลูกจ้างที่แท้จริงไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้างข้อตกลงนั้นทั้งฉบับจึงไม่มีผลบังคับ
พิพากษายืน