แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ ระบุให้ พ. มีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ด้วย โดยแยกรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อๆ ไว้ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไว้แจ้งชัดแล้ว ทั้งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา 800 ที่จะต้องระบุชื่อผู้ซึ่งจะต้องถูกฟ้องคดีตามที่มอบอำนาจไว้ นอกจากนี้การมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อจำกัดแจ้งชัดจากโจทก์ผู้มอบอำนาจเอง ก็ย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ดังนั้น พ. ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะที่ยื่นฟ้อง จึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ ม. ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (3) ) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 6 กระทง จำคุก 36 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่426/2544 ของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2146/2543 ของศาลชั้นต้นด้วย คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2543 โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์กับจำเลยในฐานะส่วนตัวของจำเลยเอง และในฐานะจำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท ไฮคลาส วิดีโอ แอนด์ ออดิโอ จำกัด ด้วย และจำเลยออกเช็คหลายฉบับรวมทั้งเช็คพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2146/2543 ของศาลชั้นต้น กับตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.12 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 426/2544 ของศาลชั้นต้น ให้แก่โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้ง 13 ฉบับ เข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โดยในวันที่เช็คแต่ละฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินและในวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเหล่านั้น บัญชีของจำเลยตามเช็คดังกล่าวมีเงินไม่พอจ่ายตามเช็ค หลังจากเดือนเมษายน 2543 เป็นต้นมาโจทก์กับจำเลยได้เลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ดังกล่าวโดยปริยายและการที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.12 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 426/2544 ของศาลชั้นต้น กับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2146/2543 ของศาลชั้นต้น นั้น ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่มีหนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ดังกล่าวตลอดมา
ปัญหาประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ว่า นางสาวมนต์ทิพย์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีทั้งสองโดยชอบหรือไม่นั้น เบื้องแรกเนื่องเพราะคดีอาญาหมายเลขดำที่ 426/2544 ของศาลชั้นต้น ได้ถึงที่สุดลงแล้วโดยศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนี้ การจะวินิจฉัยว่านางสาวมนต์ทิพย์ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มีอำนาจยื่นฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ย่อมไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะแม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่วินิจฉัยให้ส่วนปัญหาดังกล่าวในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2146/2543 ของศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.16 ระบุให้นายพิทยา มีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ด้วย โดยแยกรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อๆ ไว้ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคสอง (5) ดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไว้แจ้งชัดแล้ว ทั้งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจเพราะการตามมาตรา 800 ที่จะต้องระบุชื่อผู้ซึ่งจะต้องถูกฟ้องคดีตามที่มอบอำนาจไว้ นอกจากนี้การมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อจำกัดแจ้งชัดจากโจทก์ผู้มอบอำนาจเอง ก็ย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ดังนั้น นายพิทยาซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้อง จึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.17 ให้นางสาวมนต์ทิพย์ยื่นฟ้องคดีนี้ได้ ฎีกาในประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2543 จำนวน 650,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับกันได้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า หลังจากที่โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์กับจำเลยในวันที่ 15 มกราคม 2543 แล้ว ได้มีกรณีถือเป็นเหตุให้สัญญาดังกล่าวเลิกกันโดยปริยายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา ดังนั้น เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเช็คที่จำเลยออกให้ไว้เพื่อชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวสำหรับเดือนเมษายน 2543 ที่ยังไม่ได้เลิกสัญญากันเพราะโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่พร้อมจะให้ใช้สิทธิตามสัญญาให้จำเลยทราบแล้ว จึงเป็นเช็คที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับกันได้ตามกฎหมายตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 มิใช่เช็คที่ออกเพื่อการค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่ยังกำหนดจำนวนแน่นอนไม่ได้ ถูกต้องตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาที่จำเลยยกเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่บังคับได้ระคนปนกับหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ เนื่องเพราะในเดือนเมษายน 2543 โจทก์ส่งรายชื่อภาพยนตร์ให้จำเลยไม่ครบจำนวนตามสัญญาซึ่งจะต้องจัดส่งให้เดือนละประมาณ 50 เรื่อง แต่โจทก์ส่งในรูปแบบวิดีโอ 45 เรื่อง ส่วนวีซีดีไม่ส่งเลยจึงต้องหักทอนค่าตอบแทนลงนั้น เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์เป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์มีหน้าที่ต้องแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ ที่พร้อมจะให้สิทธิตามสัญญาให้จำเลยทราบเป็นคราวๆ เดือนละประมาณ 50 เรื่อง ส่วนจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าใช้สิทธิดังกล่าวตอบแทนแก่โจทก์ตามเช็คลงวันที่ เดือน ปี ที่ออกมอบแก่โจทก์ประจำเดือนนั้นๆ และหากจำเลยต้องการใช้สิทธิที่ได้รับดังกล่าวในภาพยนตร์เรื่องใดจำเลยก็แจ้งไปยังโจทก์ให้จัดทำส่งไปให้จำเลยในรูปแบบวิดีโอหรือวีซีดี โดยจำเลยต้องชำระค่าแผ่นสติกเกอร์ ค่าจ้างบันทึก ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าตอบแทนดังกล่าว ดังนี้ เมื่อปรากฏตามเอกสารแสดงแจ้งชัดว่าเป็นรายชื่อภาพยนตร์ประจำเดือนเมษายน 2543 ที่โจทก์แจ้งแก่จำเลยมีจำนวนรวม 50 เรื่อง จึงย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่พร้อมจะให้สิทธิให้จำเลยทราบแล้ว หาใช่โจทก์ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสำนวนในสัญญาดังที่จำเลยโต้เถียง และแม้จะปรากฏตามสำเนาใบสั่งของชั่วคราวรวมจำนวนชิ้นสินค้าที่โจทก์จัดส่งแก่จำเลยเป็นภาพยนตร์รูปแบบวิดีโอเทปเพียง 45 เรื่อง ในเดือนดังกล่าวเป็นจริงดังคำเบิกความของจำเลย แต่จำเลยก็หาได้มีใบสั่งซื้อสินค้าของจำเลยที่แจ้งไปยังโจทก์ และโจทก์ไม่จัดส่งสินค้าให้มาแสดงเป็นหลักฐาน กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์จัดส่งทำส่งให้ตามเจตจำนงของจำเลยเองที่เข้าถือเอาประโยชน์จากการได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ 50 เรื่อง ดังกล่าวเพียงเท่าจำนวนเหล่านี้ ฎีกาของจำเลยในประการนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน