คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กับสามีร่วมกันซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลย และสามีได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์เพื่อฟ้องจำเลย แต่ปรากฏจากเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์และการโอนทะเบียนรถยนต์ว่า สามีโจทก์เท่านั้นที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาท โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ประการใดกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับการรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ร่วมกันซื้อรถยนต์จากจำเลยราคา 130,000 บาท จำเลยโอนสิทธิทางทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้สามีโจทก์ ต่อมารถยนต์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยอ้างว่าถูกโจรกรรมมาและคืนรถยนต์ให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับสามีถูกรอนสิทธิ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารถยนต์และค่าเสียหายให้แก่โจทก์กับสามีขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายรวม 137,601.81 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่คู่สัญญากับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยขายรถยนต์ตามฟ้องแก่โจทก์ โจทก์อาจดำเนินคดีแก่ผู้รับรถคืนได้ มิใช่การรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถยนต์คันพิพาทจากนายสมพงษ์ โฉ่สูงเนินสามีโจทก์ เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ถูกลักไปและได้คืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาโจทก์มีว่าโจทก์ซึ่งเป็นภริยานายสมพงษ์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบเพียงว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมพงษ์ ร่วมกันออกเงินซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลย และนายสมพงษ์ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์เพื่อฟ้องจำเลย แต่ปรากฏจากเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์และการโอนทะเบียนรถยนต์อันได้แก่ บันทึกการขายรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินชำระราคารถ และใบคู่มือการจดทะเบียนรถ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์เองว่า นายสมพงษ์ สามีโจทก์เท่านั้นที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันพิพาทไปจากจำเลย โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ประการใดกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับการรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขาย”
พิพากษายืน.

Share