คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าเหตุรถชนเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายเดียวหรือเจ้าพนักงานตำรวจมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น จำเลยที่ 3 ได้ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำให้การแม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์เพราะจำเลยที่ 3 ชนะคดีในศาลชั้นต้นแต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด จำเลยที่ 3 ก็ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิด ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์จึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร จำเลยที่ 1 กลับขับรถส่ายไปมาและยกกระบะท้ายรถให้หินเกล็ดที่บรรทุกร่วงหล่นลงมากีดขวางเส้นทางจราจรเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับแซงรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับไปได้ครึ่งคัน จำเลยที่ 1 ก็หักรถเข้ามาชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเป็นเหตุให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเสียหลักขวางถนน จึงถูกรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนซ้ำอีกครั้งทำให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงตกลงไปในคลอง ดังนี้เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ขณะเกิดเหตุรถยนต์ชนเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนี้เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างประสงค์ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ในขณะเดียวกันนั้นจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาในข้อหาต่าง ๆด้วย ก็เป็นการกระทำความผิดในทางอาญาโดยลำพังส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในทางแพ่งที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงจนได้รับความเสียหายนั้นยังเป็นการกระทำที่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 รถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันคันเกิดเหตุขณะเกิดเหตุได้ทำการบรรทุกหินไปตามถนน โดยไม่ปรากฏว่าใช้รถยนต์ดังกล่าวบรรทุกสิ่งของใด ๆ ที่ผิดกฎหมายหรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้รถยนต์คันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายแม้จำเลยที่ 1 ผู้ขับจะขับรถผิดกฎจราจรและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นความผิดอาญา ก็เป็นการกระทำต่างหากจากการใช้รถยนต์บรรทุกหินโดยชอบ และเหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวโดยลำพังถือไม่ได้ว่าการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นการใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยอันจะทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียน 7ฉ-9506 และวิทยุสื่อสารประจำรถโดยมอบหมายให้สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาและใช้สอย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน81-1168 สระบุรี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองโดยการเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บีบีซี จำกัด และจำเลยที่ 2 ประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในช่องเดินรถด้านขวามาตลอดโดยไม่ขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดซึ่งผิดกฎจราจร เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยใช้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียน 7ฉ-9506 ได้เรียกให้จำเลยที่ 1 จอดรถเพื่อจับกุมตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวติดตามไป และใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้จำเลยที่ 1 หยุดรถแต่จำเลยที่ 1 ไม่หยุดรถ กลับเร่งความเร็วของรถและขับรถหลบหนีในลักษณะส่ายไปมาโดยประมาทเลินเล่อ ตำรวจทางหลวงจึงติดตามไป เมื่อถึงที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวติดตามไปทัน แล้วแซงรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับขึ้นไปด้านซ้ายเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 1หยุดรถซึ่งในภาวะและพฤติการณ์เช่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่ารถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับแซงขึ้นมาและให้สัญญาณเตือนให้หยุดรถ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วของรถและจอดรถเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงตรวจค้นจับกุมแต่จำเลยที่ 1 หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับขับรถด้วยความเร็วสูงในลักษณะส่ายไปมาเช่นเดิมเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงของโจทก์อย่างแรงทำให้รถยนต์ทั้งสองคันตกลงไปในคลองรังสิตได้รับความเสียหายโจทก์ต้องเสียเงินค่าซ่อมและเปลี่ยนอุปกรณ์รถยนต์วิทยุคันดังกล่าวคิดเป็นเงิน 290,000 บาท และวิทยุสื่อสารประจำรถของโจทก์เสียหายรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน323,897.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 323,897.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 301,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และไม่มาศาลในวันเริ่มต้นที่มีการสืบพยานโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุละเมิดมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงผู้ขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวที่ขับมาด้วยความเร็วสูงแซงรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับด้านซ้าย เมื่อขับแซงขึ้นมาได้หักขวาปาดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับในทันทีทันใดเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้นหากจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อ ผู้ขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียน 7ฉ-9506 ก็มีส่วนประมาทเลินเล่อร่วมด้วย รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ค่าซ่อมไม่เกิน 100,000 บาทก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องและคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนีไม่ยอมหยุดตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงนั้นเป็นการกระทำในลักษณะส่วนตัวของจำเลยที่ 1ซึ่งนอกเหนือจากคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย และการที่จำเลยที่ 1 จงใจขับรถชนรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงที่ขับรถปาดหน้าเป็นการกระทำผิดอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์และหลบหนีการจับกุมและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการหลบหนี ถือว่าเป็นการใช้รถในทางที่ผิดกฎหมาย จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย หากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดก็รับผิดในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 301,300 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่15 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 22,597.50 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยใช้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 301,300 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องชำระนั้นเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน22,597.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียน7ฉ-9506 และวิทยุสื่อสารประจำรถโดยมอบหมายให้สถานีตำรวจทางหลวง 1กองกำกับการ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาและใช้สอย จำเลยที่ 2เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-1168 สระบุรี ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ในวงเงิน250,000 บาท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533 เวลา 0.30 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน81-1168 สระบุรี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองบรรทุกหินเกร็ดไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ที่คลอง 2 รังสิต โดยแล่นมาจากทางจังหวัดสระบุรีมุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ 1ขับรถในช่องเดินรถด้านขวาซึ่งผิดกฎจราจร เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ให้สัญญาณแก่จำเลยที่ 1 หยุดรถเพื่อทำการจับกุม จำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนีไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงจับกุม เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงหมายเลขทะเบียน 7ฉ-9506 ติดตามจับกุมจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 กลับขับรถส่ายไปมาและยกกระบะท้ายรถให้กินเกร็ดร่วงหล่นลงมากีดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงครั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับรถยนต์วิทยุคันดังกล่าวในช่องเดินรถด้านซ้ายแซงรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ รถยนต์ทั้งสองคันเกิดชนกันตกลงไปในคลองรังสิต เป็นเหตุให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมเป็นเงิน290,000 บาท และวิทยุสื่อสารประจำรถเสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน11,300 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น301,300 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงของโจทก์เข้ามาในช่องเดินรถด้ายซ้ายแล้วหักรถมาทางขวาปาดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเพื่อหยุดรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับจำเลยที่ 1 จึงขับรถชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงของโจทก์เหตุจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายเดียวหรือเจ้าพนักงานตำรวจมีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย เห็นว่าปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่รับวินิจฉัย แต่จำเลยที่ 3 ได้ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์เพราะจำเลยที่ 3 ชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด จำเลยที่ 3 ก็ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าจำเลยที่ 3ต้องร่วมรับผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3ไม่ได้อุทธรณ์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยเสียก่อนและวินิจฉัยข้อเท็จจริงพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ขับรถเข้ามาชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจกำลังขับติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเสียหลักขวางถนน จึงถูกรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนซ้ำอีกครั้งทำให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงตกลงไปในคลองรังสิต เหตุจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อสองมีว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2หรือไม่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถชนรถยนต์วิทยุทางหลวงของเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการกระทำในลักษณะส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขนส่งในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2 เห็นว่า ระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กำลังขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2แต่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยผิดกฎจราจรครั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ให้สัญญาณแก่จำเลยที่ 1 หยุดรถเพื่อทำการจับกุม จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วของรถและหยุดรถเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมแต่จำเลยที่ 1 หาใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่กลับขับรถหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งขับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงติดตามมา โดยระหว่างขับรถหลบหนีจำเลยที่ 1 ได้ขับรถทั้งผิดกฎจราจรและโดยประมาทเลินเล่อต่อไปด้วยการขับรถส่ายไปมาและยกกระบะท้ายรถให้หินที่บรรทุกมาร่วงหล่นกีดขวางการจราจรและการติดตามจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงครั้นเมื่อรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงขับแซงขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นการที่จำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนี จำเลยที่ 1 กลับขับรถด้วยความเร็วสูงในลักษณะส่ายไปมาต่อไปเช่นเดิม และหักรถเข้ามาด้านซ้ายชนกับรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงด้านขวา ทำให้รถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงเสียหลักขวางถนน จึงถูกรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ชนซ้ำเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันตกลงไปในคลองรังสิตและรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงคันดังกล่าวได้รับเสียหาย ซึ่งเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์ทั้งสองชนกันเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของจำเลยที่ 2ผู้เป็นนายจ้างประสงค์ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ในขณะเดียวกันจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาในข้อหาต่าง ๆ ด้วย ก็เป็นการกระทำความผิดในทางอาญาโดยลำพัง ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1ในทางแพ่งที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถชนรถยนต์วิทยุตำรวจทางหลวงจนได้รับความเสียหายนั้นเป็นการกระทำที่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายมีว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการใช้รถในทางที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถในระหว่างกระทำผิดทางอาญาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ หลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยใช้รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นพาหนะ มีเจตนาชนรถยนต์ของโจทก์เพื่อหลบหนีการจับกุมถือว่าเป็นการใช้รถในทางที่ผิดกฎหมาย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2.13.2 เห็นว่าระหว่างเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันเกิดเหตุทำการบรรทุกหินไปตามถนนโดยไม่ปรากฏว่าใช้รถยนต์ดังกล่าวบรรทุกสิ่งของใด ๆที่ผิดกฎหมายหรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้รถยนต์คันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ผู้ขับจะขับรถผิดกฎจราจรและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นความผิดอายา ก็เป็นการกระทำต่างหากจากการใช้รถยนต์บรรทุกหินโดยชอบ และเหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวโดยลำพังถือไม่ได้ว่าการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นการใช้ในทางที่ผิดกฎหมายตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.13.2 เอกสารหมาย ล.1 อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share