คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่กู้ยืมไป จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งว่า จำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ว่าสัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ส่งมอบเงินที่ยืม คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน60,000 บาท กำหนดชำระคืนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2530 โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินไปไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2เดิมจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 1 บิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง เพื่อโจทก์จะเอาเงินจากจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินกู้ยืมจากโจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่โจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ โดย จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่และโจทก์ได้ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วหรือไม่ ปัญหาข้อแรกนั้นจำเลยที่ 1 ให้การไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ว่าสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ไม่บริบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งมอบเงินที่ยืมคดีมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1ในข้อแรกนี้ฟังขึ้น”
พิพากษายืน

Share