คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริง. เพราะจะต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจเป็นข้อประกอบด้วย. ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 ได้บัญญัติไว้. ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น. จำเลยจะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกาไม่ได้.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค และด้วยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุกจำเลยสี่สิบห้าวัน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยออกเช็คให้โจทก์ร่วมโดยรู้อยู่ว่าไม่มีเงินในบัญชี เป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาจะให้ผูกพันและชำระหนี้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คนั้นธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยต้องมีความผิดตามฟ้อง ข้อที่จำเลยฎีกาว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดี โดยไม่มีอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริง เพราะจะต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจเป็นข้อประกอบด้วย ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยจะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกาไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรค 2 ประกอบด้วยมาตรา 225 พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.

Share