คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำนวน 104 ตารางวาโดยจะแบ่งแยกที่ดินจากที่ดินฝืนใหญ่เป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลงมีเนื้อที่แปลงละ 26 ตารางวา ต่อมาเมื่อแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าที่ดินทั้งสี่แปลงมีเนื้อที่แปลงละ 24 ตารางวา คงขาดเนื้อที่ดินไปแปลงละ 2 ตารางวา รวม 8 ตารางวา ถือว่าผู้ขายคือจำเลยส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่อง โจทก์ต้องฟ้องคดีให้จำเลยรับผิดในการแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์อีก 8 ตารางวาหรือชดใช้เงินแทนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน104 ตารางวา จากที่ดินจำนวน 565 ตารางวา ของโฉนดเลขที่ 84343แก่โจทก์ โดยจะแบ่งขายเฉพาะส่วนที่ติดถนนสุขาภิบาล 1 ด้านทิศเหนือ แบ่งเป็น 4 แปลง แปลงละ 26 ตารางวา ในราคา 900,000 บาทจำเลยได้ขอแบ่งแยกที่ดินออกจากโฉนดเลขที่ 84343 ดังกล่าว รวม8 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 157688 ถึง 157695 ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 157690 ถึง 157693 รวม4 โฉนด เนื้อที่โฉนดละ 24 ตารางวา ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้จำเลยครบถ้วน แต่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์มีเนื้อที่ขาดไปโฉนดละ 2 ตารางวา และที่ดินไม่ได้อยู่ติดกับถนนสุขาภิบาล 1 ด้านทิศเหนือ เมื่อโจทก์ทักท้วงจำเลยได้ตกลงว่าที่ดินที่ขาดไปแปลงละ 2 ตารางวา รวม 8 ตารางวานั้น จำเลยจะแบ่งแยกที่ดินกว้าง 2 เมตร ยาว 16 เมตร ด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 157694 โอนให้แก่โจทก์แทน และจำเลยจะแบ่งแยกที่ดินด้านติดถนนสุขาภิบาล 1 จำนวน 42 ตารางวาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 84343 โอนขายให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาทจำเลยได้มอบที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ใช้ประโยชน์ตลอดมาโดยรับว่าจะทำการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้เสร็จภายในปี 2527 ครั้นต้นเดือนธันวาคม 2527 จำเลยแจ้งโจทก์ว่าได้ดำเนินการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงนั้นแล้วและจะขอรับเงินค่าที่ดินจำนวน 400,000 บาท โจทก์เชื่อถือจำเลยจึงจ่ายเงิน 400,000 บาท ให้แก่จำเลยรับไป แต่ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยไม่ได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงนั้นให้โจทก์โจทก์ติดต่อทวงถาม จำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมา จำเลยจึงมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากไม่สามารถดำเนินการจำเลยต้องคืนเงินที่รับไปแล้วแก่โจทก์พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายสำหรับที่ดินที่ขาดไปแปลงละ 2 ตารางวา รวม 8 ตารางวา ตารางวาละ8,653.75 บาท รวมเป็นเงิน 69,230 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17สิงหาคม 2526 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,823 บาท รวมเป็นเงิน82,062 บาท และสำหรับที่ดินส่วนที่ติดกับถนนสุขาภิบาล 1 ด้านทิศเหนือต้องคืนเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4ธันวาคม 2527 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 35,260 บาท รวมเป็นเงิน435,260 บาท ขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 8 ตารางวา จากที่ดินโฉนดเลขที่ 157694 และจำนวน 42ตารางวา จากที่ดินโฉนดเลขที่ 84343 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากจำเลยไม่ดำเนินการตามที่กล่าวก็ให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาหากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็ให้ชดใช้เงิน 82,062 บาท และ 435,260 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 69,230 บาทและ 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่โฉนดตามฟ้องได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2526ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในเนื้อที่ดินที่ขาดตกบกพร่องจึงขาดอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25เมษายน 2526 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 104 ตารางวา ราคา 900,000 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 850,000 บาท จะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยจะแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจากโฉนดเลขที่ 84343 ตำบลคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และจะดำเนินการแบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง มีเนื้อที่แปลงละ 26 ตารางวา ต่อมาเมื่อแบ่งแยกเสร็จแล้วได้โฉนดที่ดินเลขที่ 157690 ถึง 157693 แต่ปรากฏว่า ที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวมีเนื้อที่แปลงละ 24 ตารางวา คงขาดเนื้อที่ดินไปแปลงละ2 ตารางวา รวม 8 ตารางวา จำเลยได้ส่งมอบที่ดินทั้ง 4 แปลงให้แก่โจทก์โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม2526 ประเด็นแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า คดีโจทก์ในส่วนที่เรียกร้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินอีก 8 ตารางวา ให้แก่โจทก์นั้นขาดอายุความหรือไม่ กรณีนี้ถือว่าผู้ขายคือจำเลยส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ทราบถึงความบกพร่องนั้นแล้วในวันที่ 17 สิงหาคม 2527ซึ่งเป็นวันที่รับโอนที่ดิน โจทก์ต้องฟ้องคดีให้จำเลยรับผิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2529 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share