คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีเครื่องมือหรือวัตถุปลอมแปลงเงินตรานั้น ผู้ที่จะต้องมีเจตนาจะปลอมหรือแปลงเงินตรา จึงจะมีความผิด
เพียงแต่ได้ความว่า มีธนบัตรของรัฐบาลที่ไม่มีลายเซ็นต์ของรัฐมนตรีนั้น ลงโทษฐานมีเครื่องมือปลอมแปลงเงินตราไม่ได้

ย่อยาว

ได้ความว่า เจ้าพนักงานจับธนบัตรได้ที่จำเลยชะนิดราคาฉะบับละ ๑๐๐ บาท จำนวน ๑๙๙ ฉะบับ เป็นธนบัตรชะนิดซึ่งรัฐบาลสั่งพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่น แต่ยังใช้ไม่ได้โดยสมบูรณ์ เพราะขาดลายเซ็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยมีไว้เพื่อเจตนาอย่างไรไม่ปรากฎ เจ้าพนักงานผู้จับว่า อาจมีไว้เพื่อประทับตราลายเซ็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปลอมภายหลัง แล้วนำออกใช้เป็นธนบัตรที่สมบูรณ์ได้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปลอมแปลงเงินตราตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๐๕
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากับ, ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๐๕ บัญญัติว่า “ผู้ได้ทำเครื่องมือหรือวัตถุอย่างใด ๆ ขึ้นไว้เพื่อเจตนาจะปลอมหรือแปลงเงินตราก็ดี หรือปรากฎว่า มันมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นนั้นไว้ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด” ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตอนท้ายที่ว่า “มันมีเครื่องมือหรือวัตถุไว้” หมายถึงว่ามีไว้ด้วยเจตนาจะปลอมหรือแปลงเงินตามเช่นเดียวกับการทำขึ้น แต่ในคดีนี้ไม่ได้ความว่า จำเลยมีธนบัตรของกลางไว้ด้วยเจตนาเช่นนั้น คดีไม่เข้ามาตรา ๒๐๕ ที่โจทก์ฟ้อง จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share