แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าจ้างคนทำสวน ค่าซักล้างทำความสะอาดพรม ค่าซักผ้าม่านค่าทำความสะอาดสระว่ายน้ำ ค่าผงคลอรีนสำหรับใส่สระว่ายน้ำ ค่าผงซักฟอกค่ากำจัดปลวก ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายไปเพื่อบำรุงรักษาทรัพย์สินของโจทก์จึงเป็นประโยชน์ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์สินของโจทก์ หาใช่ประโยชน์ที่พนักงานของโจทก์ได้รับโดยตรงที่โจทก์จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่ายนำส่งแก่จำเลยไม่
ตามรายการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานโจทก์ที่เจ้าพนักงานประเมินแสดงไว้ได้คำนวณโดยรวมเอาประโยชน์จากที่พนักงานโจทก์ได้รับเพิ่มจากการได้ใช้ไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปาทั้งหมดไว้ในรายได้ของพนักงานโจทก์แต่ละคนแล้วจึงคำนวณภาษี หลังจากนั้นได้นำค่าภาษีที่พนักงานโจทก์แต่ละคนได้ชำระไว้แล้วหักออก เหลือเท่าใดถือเป็นจำนวนภาษีที่พนักงานโจทก์ชำระขาด และคำนวณเงินเพิ่มจากยอดเงินดังกล่าว ดังนี้ เห็นได้ว่ายอดเงินค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปาที่พนักงานของโจทก์นำไปแสดงเป็นเงินได้บางส่วนและได้ชำระภาษีไว้แล้วนั้น เจ้าพนักงานประเมินได้คิดคำนวณหักให้ถูกต้องแล้ว ไม่ได้คิดซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด
โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ว่าการประเมินค่าเดินทางและค่าธรรมเนียมในการที่พนักงานโจทก์ร่วมประชุมของจำเลยไม่ถูกต้อง ทำให้การคำนวณภาษีผิดพลาดในจำนวนเท่าใด ควรแก้ไขให้ลดลงเหลือเท่าใด
ค่าสมาชิกสโมสรเป็นสิทธิเฉพาะตัวของพนักงาน ข้อตกลงการจ้างก็เพียงแต่โจทก์ตกลงว่าจะจ่ายค่าสมาชิกสโมสรให้แก่พนักงานดังกล่าวเท่านั้น เป็นการให้ประโยชน์แก่พนักงานโดยตรง หาใช่โจทก์มีข้อบังคับว่าพนักงานตำแหน่งใดจะต้องเป็นสมาชิกสโมสรใดเพื่อกระทำกิจกรรมใดในสโมสรให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ไม่ ตามทางนำสืบก็ไม่ปรากฏว่า การที่พนักงานของโจทก์เป็นสมาชิกสโมสรก่อประโยชน์โดยตรงแก่โจทก์อย่างไร จึงเป็นประโยชน์ส่วนตัวของพนักงาน ค่าสมาชิกสโมสรที่โจทก์จ่ายแทนให้แก่พนักงานจึงเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับเพิ่มถือเป็นเงินได้ของพนักงาน
ค่าบังกะโลพัทยาเกิดจากการที่โจทก์จัดสวัสดิการบังกะโลที่พักให้แก่พนักงานของโจทก์ได้ใช้พักผ่อนในวันหยุด ดังนี้ค่าจ้างในการดูแลรักษาและทำความสะอาดบังกะโลนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้ได้รับ ส่วนค่าไม้กวาดและผงซักฟอกอันเป็นของใช้ที่นำมาใช้ในการรักษาทำความสะอาดบังกะโลนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวทรัพย์ คือ บังกะโล หาใช่ประโยชน์โดยตรงที่พนักงานโจทก์ได้รับไม่ จึงไม่อาจถือเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับเพิ่มอีก
ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ได้กำหนดชนิดของเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า และประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานแยกออกจากกัน ฉะนั้นในกรณีที่พนักงานโจทก์ได้อยู่บ้านที่โจทก์ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า และโจทก์เป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าแก๊สที่พนักงานโจทก์ได้ใช้สิ้นเปลืองไปนั้น ประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับจากการใช้กระแสไฟฟ้า น้ำประปา และแก๊ส ที่โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินให้นี้ เป็นประโยชน์ชนิดหนึ่งต่างจากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่โจทก์จัดให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ถือว่าค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำประปาเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานแยกจากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่โจทก์ให้อยู่
ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เพียงแต่กำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน ในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแล้ว พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนเท่านั้นมิใช่กำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน จำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแล้ว
ประมวลรัษฎากร มาตรา 20 มิได้กำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินจำนวนเงินที่จะต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีภายหลัง 5 ปี นับแต่วันที่ยื่นรายการไว้แล้วจึงกระทำได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่า เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ยื่นรายการไว้จึงเป็นการไม่ชอบ มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนเนื่องจากพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ยื่นรายการ ทั้งมิได้อ้างว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยขาดอายุความแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและทำการประเมินเพราะพ้นกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่โจทก์ยื่นรายการแล้วหรือไม่ และสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
เงินเพิ่มตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 กำหนดไว้เป็นอัตราแน่นอนมิได้ยกเว้นให้ อาจงดเก็บเสียได้ ส่วนกรณีที่จะลดเงินเพิ่มได้จะต้องเป็นกรณีตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 27 (1) (2) บัญญัติไว้คือ ถ้าผู้ต้องเสียหรือนำส่งได้นำเงินมาชำระโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ก็ให้เสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 5 แห่งเงินภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้น หรือถ้าผู้ต้องเสียหรือนำส่งได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือแล้วแต่ได้นำเงินมาชำระภายในสิบวันนับแต่วันได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน ก็ให้เสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ดังกล่าว ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่ม