แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศ. ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จอดรถยนต์ในที่เกิดเหตุให้ท้ายรถยนต์ อยู่ในช่องเดินรถ และตามสภาพของที่เกิดเหตุ ศ. สามารถจอดรถยนต์มิให้ขวางทางจราจรเช่นนั้นได้ ซึ่งถือได้ว่าจอดรถยนต์กีดขวางการจราจรนับว่า ศ. มีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยผู้ทำละเมิด การที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่เป็นบุคคลภายนอกให้รับผิดโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้รับประกันภัยจะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่ความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกแสดงว่าบุคคลภายนอกจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดวินาศภัยนั้นเมื่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความผิดของจำเลยและ ศ. ที่ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน กรณีจึงไม่มีความรับผิดของจำเลยที่ศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้แก่ ศ. ได้เช่นนี้จำเลยจึงหาได้มีความรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่ ศ. ไม่และผู้เอาประกันภัยและนายจ้างของ ศ. ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดด้วยเช่นกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้ขับรถโดยสารของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ช – 6711กรุงเทพมหานคร ของบริษัทเสริมสุข จำกัด ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ขณะที่นายศักดิ์ชัย ปลั่งสมบัติ ขับรถยนต์คันดังกล่าวออกจากซอยสายลมเข้าถนนพหลโยธิน เพื่อไปสี่แยกสะพานควายมาจอดอยู่ตรงช่องเจาะเปิดเกาะกลางถนนและรถยนต์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นรับประกันภัยได้ซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเสียเงินค่าซ่อม43,782 บาท และชำระเงินเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2534 จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 46,974.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 43,782 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับมาแต่เพียงว่า โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชอบที่จะรับช่วงสิทธิจากบริษัทเสริมสุข จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า นายศักดิ์ชัย ปลั่งสมบัติ ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ช – 6711 กรุงเทพมหานครของบริษัทเสริมสุข จำกัด ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จอดรถยนต์ในที่เกิดเหตุ ให้ท้ายรถยนต์อยู่ในช่องเดินรถจากสะพานควายไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งตามสภาพของที่เกิดเหตุนายศักดิ์ชัยสามารถจอดรถยนต์มิให้ขวางทางจราจรเช่นนั้นได้ถือว่านายศักดิ์ชัยจอดรถยนต์กีดขวางการจราจร นับว่ามีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของบริษัทเสริมสุข จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสี่ที่เป็นบุคคลภายนอกให้รับผิดโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น” ฉะนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้รับประกันภัยจะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่ความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอก ย่อมแสดงว่าบุคคลภายนอกจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมายซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดวินาศภัยนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 และนายศักดิ์ชัย ที่ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันจึงไม่มีความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่จะกำหนดค่าเสียหายให้แก่นายศักดิ์ชัยผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ช – 6711 กรุงเทพมหานครของบริษัทเสริมสุข จำกัด ได้ เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงหาได้มีความรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่นายศักดิ์ชัย ไม่ อีกทั้งบริษัทเสริมสุข จำกัด ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและนายจ้างของนายศักดิ์ชัย ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดด้วยเช่นกัน ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน4ช – 6711 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายศักดิ์ชัยขับขี่และบริษัทเสริมสุข จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ได้
พิพากษายืน