แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลย กำหนดว่าลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับและถูกตัดสินลงโทษหรือถูกจำคุกในความผิดอาญา ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นประพฤติผิดที่ร้ายแรง แต่จะเป็นกรณีที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ47 หรือไม่และต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และการกระทำของลูกจ้างเป็นราย ๆ ไปหาใช่เพียงแต่พิจารณาจากข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่
โจทก์วิวาททำร้ายร่างกายเพื่อนพนักงานโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย เหตุทะเลาะวิวาทเกิดนอกบริเวณบริษัทจำเลยและจำเลยไม่ได้รับความเสียหาย การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระค่าจ้างโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายนายถนอม พรมแสน พนักงานของจำเลย ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและลงโทษปรับ 50 บาท ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่เสียหายจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์วิวาททำร้ายเพื่อนคนงานด้วยกันจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจปรับเป็นเงิน 50 บาท ถือได้ว่าเป็นความประพฤติผิดที่ร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยข้อ 14 และ 14.9 แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยลงวันที่ 1สิงหาคม 2529 ข้อ 14 กำหนดว่า กฎข้อบังคับที่พนักงานจะต้องปฏิบัติ พนักงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับต่อไปนี้ บริษัทจะถือว่าเป็นความประพฤติผิดที่ร้ายแรงฯลฯ 14.9 ถูกตัดสินลงโทษหรือจำคุกในความผิดทางอาญา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวจะได้กำหนดว่า การที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับโดยถูกตัดสินลงโทษหรือถูกจำคุกในความผิดทางอาญา ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นประพฤติผิดที่ร้ายแรงก็ตาม แต่จะเป็นกรณีที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 หรือไม่ และโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 หรือไม่ จำต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และการกระทำของลูกจ้างเป็นรายๆ ไป หาใช่เพียงแต่พิจารณาจากข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังที่จำเลยโต้เถียงในอุทธรณ์ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์วิวาททำร้ายร่างกายเพื่อนพนักงานโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเหตุทะเลาะวิวาทเกิดนอกบริเวณบริษัทจำเลย และจำเลยไม่ได้รับความเสียหายการที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน.