คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโรงภาพยนตร์ พร้อมอุปกรณ์ที่โจทก์ต้องโอนให้จำเลยที่ 3 ถูกเพลิงไหม้หมด การชำระหนี้ของโจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัย แต่เนื่องจากโจทก์ได้เอาประกันภัยไว้แก่ผู้ร้อง โจทก์ได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมา จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 228 ที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นเสียเองได้ การเรียกร้องตามบทบัญญัตินี้มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับโอนวัตถุที่เอาประกันภัยจึงไม่ต้องมีการบอกกล่าวการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยให้ผู้รับประกันภัยทราบตามมาตรา 875 ก่อน เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะบังคับเอาค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้ได้หาใช่เป็นเรื่องข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยต่างหากจากคดีนี้ไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินประกันภัยก็เพื่อนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องอันอยู่ในบังคับแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ถึง 315 การที่ศาลชั้นต้นนัดผู้ร้องและจำเลยที่ 3 มาพร้อมกันสอบถามพิจารณาคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารต่าง ๆ แล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 15 ล้านบาทที่อายัดมาวางศาล เป็นการไต่สวนและมีคำสั่งตามมาตรา 312 วรรคหนึ่งแล้ว เมื่อคำสั่งนั้นมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสียข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหายของโรงภาพยนตร์ และอุปกรณ์จึงเป็นอันยุติคำแถลงของผู้ร้องในชั้นเสนอหลักทรัพย์เป็นประกัน การทุเลาการบังคับที่ว่า ความเสียหายแท้จริงเป็นเงิน 8 ล้านบาทเศษ จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่อายัด ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดวินาศภัยแต่อย่างใด จนศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคำแถลงของจำเลยที่ 3 ไปแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องจะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตนตามมาตรา 312 ผู้ร้องหามีสิทธิโต้แย้งตามมูลหนี้เรื่องประกันภัยต่อไปไม่

ย่อยาว

เนื่องมาจากคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1ตกลงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ตามฟ้องซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่เป็นเงิน 6,448,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด ถ้าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งจำเลยที่ 1 และบริวารตกลงมอบทรัพย์สินตามฟ้องทั้งหมดให้แก่โจทก์ และให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที จำเลยทั้งห้าตกลงร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์200,000 บาท ในวันเดียวกับที่ชำระเงินงวดที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ150,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินครบถ้วน เมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนและจำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามฟ้องจึงจะโอนไปยังจำเลยที่ 1 โจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ตกลงชำระหนี้แทน จำเลยที่ 1 สละสิทธิในทรัพย์สินซึ่งโจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตลอดจนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ปรากฏอยู่ในคดีนี้ทั้งหมดโอนตกเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 ได้มีการชำระเงินงวดที่ 1 ที่ 2 ส่วนงวดที่ 3คู่ความตกลงกันว่า จำเลยที่ 3 จะชำระเงิน 7,633,000 บาทให้โจทก์ โจทก์จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3072 และ 8304 ตำบลพญาไท พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินอีก 3 โฉนดให้จำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวที่นำมาวางศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งมอบสิ่งก่อสร้างในที่ดินโฉนดที่ 3072 และ 8304พร้อมอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยที่ 3ชำระเงินงวดที่ 3 โดยให้นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพื่อชำระให้โจทก์ภายใน7 วัน และให้โจทก์โอนที่ดินและทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและบันทึกข้อตกลงใหม่เป็นการตอบแทนในคราวเดียวกันโดยปลอดภาระติดพันแล้วจึงให้โจทก์รับเช็คไปจากศาลได้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2521 วันที่ 26 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 3วางเงิน 7,633,000 บาท เป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นหมายเรียกให้โจทก์จัดการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันรับหมาย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์เพชรพิมานถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้แก่บริษัทนารายณ์สากลประกันภัยจำกัด เป็นเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งเงินประกันให้แก่จำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าว โดยให้ส่งมาศาล บริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง บริษัทฯ อุทธรณ์คำสั่ง และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทุเลาการบังคับธนาคารแห่งอเมริกาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันผู้ร้อง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 9,668,000 บาทภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อชำระให้โจทก์แล้วให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น มิฉะนั้นให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขออายัดเงิน 15 ล้านบาท ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2523 ครั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางเพิ่มเติมจนครบ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้โจทก์นำโฉนดมาวางศาล ให้บริษัทฯ ผู้ร้องชำระหนี้ 15 ล้านแก่จำเลยที่ 3โดยนำมาวางศาลกับให้ธนาคารแห่งอเมริกาผู้ค้ำประกันนำเงิน 15 ล้านบาทมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งเป็นวันที่นัดฟังคำสั่งเรื่องการจ่ายเงินที่จำเลยที่ 3 นำมาวางศาล และนัดพร้อมเพื่อพิจารณาเรื่องเงินที่ธนาคารแห่งอเมริกานำมาวางศาล จำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงขอรับเงิน15,000,000 บาท ที่ธนาคารแห่งอเมริกานำมาวางไว้ ศาลชั้นต้นสั่งว่าจะรวมสั่งไปพร้อมกัน แล้วมีคำสั่งว่า เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์จะต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาได้ถูกเพลิงไหม้ไปเสียก่อนแล้ว สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ การชำระหนี้ในส่วนนี้จึงกลายเป็นพ้นวิสัย เมื่อโจทก์ได้โอนที่ดินส่วนอื่นให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ถูกต้องครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะรับเงินค่าที่ดินที่จำเลยที่ 3 นำมาวางศาลเป็นการตอบแทนได้ ส่วนที่สิ่งปลูกสร้างถูกเพลิงไหม้และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 จะว่ากล่าวเอาแก่ผู้รับประกันภัยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ไม่สามารถโอนสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการโอนกลายเป็นพ้นวิสัยดังกล่าวหากให้โจทก์ได้รับชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยที่ 3 นำมาวางไว้เต็มจำนวน จำเลยที่ 3 ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โจทก์จึงต้องคืนเงินส่วนที่เป็นราคาสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3จะต้องชำระให้โจทก์จะต้องลดลงตามส่วน ศาลชั้นต้นสอบคู่ความในเรื่องราคาสิ่งปลูกสร้างแล้ว ไม่ตกลงกันจึงให้นัดไต่สวนเพื่อทราบราคาสิ่งปลูกสร้างต่อไป ส่วนในเรื่องเงินประกันภัยเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อสิ่งปลูกสร้างถูกเพลิงไหม้จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินที่ผู้ร้องจะจ่ายให้โจทก์ โดยให้นำมาวางศาลซึ่งผู้ร้องได้โต้แย้งคัดค้านอยู่ ศาลมีคำสั่งให้อายัดเงินประกันภัยดังกล่าวจากผู้ร้องให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวต่อศาล ได้มีการอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลต่อมาผลที่สุดตามฎีกามีคำพิพากษาให้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้ร้อง ประเด็นที่ศาลหยิบยกขึ้นพิจารณามาแล้วมีเพียงว่า ศาลชอบที่จะอายัดเงินประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น ยังไม่มีประเด็นวินิจฉัยไปถึงว่าจำเลยที่ 3จะมีสิทธิได้รับเงินประกันภัยดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด จะฟังเลยไปถึงว่าศาลมีคำสั่งให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 ด้วยไม่ได้ ทั้งเรื่องเงินประกันภัยนี้ ผู้ร้องยังโต้แย้งคัดค้านอยู่ จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ร้องแค่ไหนเพียงไร ชอบที่จำเลยที่ 3 จะไปว่ากล่าวดำเนินคดีเป็นเรื่องใหม่ต่างหาก จึงให้จำเลยที่ 3 ไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่

โจทก์ จำเลยที่ 3 และผู้ร้อง อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524 โดยโจทก์อุทธรณ์ขอให้งดการไต่สวนกับขอให้โจทก์ได้รับเงินจำนวน 9,668,000 บาทไปจากศาล จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้จ่ายเงินค่าประกันภัย 15,000,000 บาทแก่จำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลเรียบร้อยแล้ว จึงอนุญาตให้โจทก์รับแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 3 วางไว้ไปจากศาลได้ และผู้ร้องอุทธรณ์ว่าศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำร้องขออายัดเงินจำนวน 15,000,000 บาทของจำเลยที่ 3 เสียแล้วจึงขอให้คืนเงินนั้นแก่ผู้ร้อง

วันที่ 30 มีนาคม 2524 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรับเอาโฉนดที่ดิน 5 ฉบับไปแล้ว แต่ไม่ยินยอมชำระราคาให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ศาลสั่งจำเลยที่ 3 นำโฉนดที่ดินทั้งห้าฉบับดังกล่าวมามอบไว้ต่อศาล และให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ จนกว่าจำเลยที่ 3 จะยินยอมให้โจทก์รับเงิน9,668,000 บาทไปจากศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524ว่าการที่โจทก์ยังรับเงินไม่ได้เพราะศาลเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 3 วางเงินต่อศาลครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลแล้ว ย่อมมีสิทธิรับโอนได้ ไม่มีเหตุที่จะเรียกโฉนดที่ดินคืนจากจำเลยที่ 3หรือห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 มีนาคม 2524 ขอให้จำเลยที่ 3 นำโฉนดที่ดินทั้งห้าฉบับมาวางศาล และห้ามจำเลยที่ 3 จำหน่ายจ่ายโอน

ในระหว่างพิจารณาแล้วของศาลอุทธรณ์ โจทก์มรณะ นางกาญจนาเบญจรงคกุล นายบุญชัย เบญจรงคกุล นายเสริมศักดิ์ เทพาคำ และนายเฉลิม ทองศรีพงษ์ ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของโจทก์ ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้คัดค้านคำสั่งอายัดตามคำร้องลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 ว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เสียหายประการใด เป็นเงินเท่าใด และโจทก์ต้องรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์ฎีกาต่อมา ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ว ส่วนบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด ผู้ร้องได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งตามกฎหมายอายัดของศาลชั้นต้นไว้แล้ว ผู้ร้องมิได้คิดที่จะขัดขืนคำสั่งของศาลชั้นต้น ส่วนเหตุผลที่ยกขึ้นอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้แล้ว ทั้งบางข้อเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาในคดีก่อนจึงเป็นอันยุติไปแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้นแล้ว จึงอาจถูกบังคับคดีเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 312 วรรคสอง โดยจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่จำต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ เมื่อจำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลฎีกากำหนด จำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะรับเงินจำนวน 15,000,000 บาทไปจากศาลได้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิรับเงินที่อายัดแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะได้รับแคชเชียร์เช็คจำนวน 9,668,000 บาท ไปจากศาลได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อน และอุทธรณ์ของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3นำโฉนดที่ดิน 5 ฉบับมาวางศาลหรือห้ามจำเลยที่ 3 จำหน่ายจ่ายโอนจนกว่าจำเลยที่ 3 จะยอมให้โจทก์รับค่าที่ดินไปจากศาลก็ตกไปในตัว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่าศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกคำร้องขออายัดเงินของจำเลยที่ 3เสียแล้วนั้น คำพิพากษาฎีกามีความหมายว่า ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมจึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3นำแคชเชียร์เช็คมาวางเพิ่มเติมถูกต้องครบถ้วนแล้ว เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่บังคับแก่จำเลยที่ 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับเงินจำนวน15,000,000 บาทที่อายัดไว้ไปจากศาลได้ และให้โจทก์รับแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 9,668,000 บาทที่จำเลยที่ 3 วางไว้ไปจากศาลได้ โจทก์ จำเลยที่ 3 และผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาประการแรกว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ที่ขออายัดเงินจำนวน 15,000,000 บาทเสียแล้วหรือไม่ โจทก์และผู้ร้องฎีกาว่าศาลฎีกาได้พิพากษายกคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ไปแล้ว จึงต้องคืนเงิน15,000,000 บาท ให้แก่ผู้ร้อง พิเคราะห์แล้ว คำพิพากษาศาลฎีกามีข้อความว่า “พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมให้ครบจำนวนเงิน 9,668,000 บาท ภายในกำหนด 20 วันนับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ เพื่อชำระให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเป็นจำนวนเงินและภายในกำหนดดังกล่าวแล้วให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น มิฉะนั้น ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จัดการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ที่ขออายัดเงินจำนวนสิบห้าล้านบาทเสีย…..” มีความหมายว่า ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 9,668,000 บาทภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จัดการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 ประการหนึ่ง และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ที่ขออายัดเงินจำนวน 15,000,000 บาท เสียอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมครบจำนวนและภายในกำหนดเวลาตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็ย่อมมีผลเป็นไปตามคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้นหาต้องยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ไม่ ที่โจทก์และผู้ร้องอ้างว่าการที่จำเลยที่ 3 วางเงินครบถ้วนหรือไม่ โจทก์มิได้ยกเป็นเงื่อนไขในประเด็นที่อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินของศาลชั้นต้นการที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขออายัดเงินจึงไม่ควรแปลว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ให้จำเลยนำแคชเชียร์เช็คมาวางเพิ่มเติมนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดเพราะเหตุจำเลยที่ 3ชำระเงินไม่ครบถ้วน คำแก้ฎีกาของโจทก์ในครั้งนั้นก็หาได้ยกเหตุอื่นนอกเหนือจากการที่จำเลยที่ 3 ชำระเงินไม่ครบถ้วนมาเป็นเงื่อนไขให้เพิกถอนการอายัดไม่ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นดังที่อ้างฎีกาของโจทก์และผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่าการอายัดเงิน 15,000,000 บาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์และผู้ร้องฎีกาว่าคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ที่ขอให้อายัดเงิน 15,000,000 บาท และคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันเดียวกันที่ให้อายัดเงินจำนวนดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการขอให้ยกหรือเพิกถอนเสีย ข้อนี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์ถูกเพลิงไหม้ไปแล้ว แต่มีประกันภัยไว้แก่บริษัทผู้ร้องเป็นเงิน 15,000,000 บาท ขอให้ศาลยึดหรืออายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้อายัดเงิน 15,000,000 บาท จากผู้ร้องที่จะจ่ายให้โจทก์ไว้ก่อนโดยให้ส่งมายังศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกหรือเพิกถอนคำสั่งอายัดเสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2521ให้ยกคำร้องของโจทก์ จึงได้มีการอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวต่อมา นอกจากนั้นเมื่อศาลชั้นต้นนัดจำเลยที่ 3 และผู้ร้องมาสอบถามแล้วได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 15,000,000 บาทที่ศาลอายัดมาวางศาลภายในกำหนด 30 วัน ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 22 มกราคม 2522ให้ยกคำร้อง ได้มีการอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งฉบับนี้ต่อมาเช่นเดียวกัน ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 9,668,000 บาท ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเป็นจำนวนเงินและภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น มิฉะนั้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ที่ขออายัดเงิน15,000,000 บาทเสีย ดังนี้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการอายัดเงินจำนวน 15,000,000 บาท เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์และผู้ร้องรื้อฟื้นขึ้นมาฎีกาอีก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่และจะเรียกร้องในคดีนี้ได้หรือไม่ ได้ความว่า โจทก์มีความผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมและข้อตกลงใหม่ลงวันที่ 11 กันยายน 2518 และวันที่ 21 กันยายน 2519 ตามลำดับ ที่จะต้องโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3072 และเลขที่ 8304 ตำบลพญาไท (ประแจจีน)เขตพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พร้อมโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์บนที่ดินดังกล่าว กับที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ โฉนดเลขที่ 871 ตำบลศีรษะจรเข้ อำเภอบางพลีใหญ่ และโฉนดเลขที่ 887 (หัวจรเข้) จรเข้ใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่จำเลยที่ 3ในชั้นบังคับคดีมีข้อโต้เถียงกันในเรื่องราคาที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 9,668,000 บาท ภายในกำหนด 20 วันนับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แล้วให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน2523 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาวางเพิ่มเติมต่อศาลชั้นต้นเป็นเงิน 2,035,000 บาท รวมกับเงินที่วางไว้เดิม 7,633,000 บาท ครบถ้วนตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ได้นำโฉนดที่ดินทั้งห้าฉบับมาวางศาลและจำเลยที่ 3 รับไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของจำเลยที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ส่วนโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์โจทก์ไม่อาจโอนให้จำเลยที่ 3 ได้ เพราะถูกเพลิงไหม้ไปหมดตั้งแต่วันที่ 13กันยายน 2521 แต่โจทก์ได้เอาประกันภัยโรงภาพยนตร์ดังกล่าวพร้อมอุปกรณ์ไว้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 15,000,000 บาท และธนาคารแห่งอเมริกาผู้ค้ำประกันของผู้ร้องในชั้นทุเลาการบังคับตามคำสั่งอายัดได้นำค่าสินไหมทดแทนที่อายัดจำนวนเงิน 15,000,000 บาท มาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโรงภาพยนตร์เพชรพิมานพร้อมอุปกรณ์ที่โจทก์ต้องโอนให้จำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาตามยอมและข้อตกลงใหม่ถูกเพลิงไหม้หมดการชำระหนี้ของโจทก์ในส่วนนี้ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัย แต่เนื่องจากโจทก์ได้เอาประกันภัยโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์นั้นไว้แก่ผู้ร้อง พฤติการณ์ที่เพลิงไหม้เป็นผลให้โจทก์ได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมา จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 228 ที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นเสียเองได้ การเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัตินี้มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับโอนวัตถุที่เอาประกันภัย จึงไม่ต้องมีการบอกกล่าวการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยให้ผู้รับประกันภัยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875ก่อนดังโจทก์อ้าง ค่าสินไหมทดแทนเพื่อวินาศภัยของโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่โรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 3 เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดี ทั้งค่าสินไหมทดแทนก็ได้ถูกนำมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลไว้ตามคำสั่งอายัดอันถึงที่สุดในคดีนี้ จำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะดำเนินการบังคับเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวในคดีนี้ได้ หาใช่เป็นเรื่องข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยต่างหากจากคดีนี้ไม่ ฎีกาโจทก์และผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่าผู้ร้องยังมีสิทธิโต้แย้งตามมูลหนี้เรื่องประกันภัยอีกเพียงใดหรือไม่ ข้อนี้ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้โต้แย้งไว้แล้วว่าความเสียหายที่แท้จริงของโรงภาพยนตร์เพชรพิมานมีเพียง 8,243,627 บาท 04 สตางค์ปรากฏตามคำแถลงของผู้ร้องลงวันที่ 8 มิถุนายน 2522 ทั้งข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดวินาศภัยขึ้นอันผู้ร้องไม่ต้องรับผิดหรือไม่เมื่อศาลยังมิได้ไต่สวนหรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ข้อโต้แย้งระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ในมูลหนี้ประกันภัยยังไม่ยุติ จะจ่ายเงินที่อายัดแก่จำเลยที่ 3มิได้ พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงิน 15,000,000บาทจากผู้ร้องแล้ว จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดขอให้มีคำสั่งอายัดอีกครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมเพื่อสอบถาม วันที่5 มกราคม 2522 อันเป็นวันนัด จำเลยที่ 3 และทนายผู้ร้องมาศาล ศาลสอบถามแล้วทนายผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องได้รับประกันภัยโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์ไว้จากโจทก์ในราคา 15,000,000 บาทจริง และบริษัทได้กระจายให้บริษัทประกันภัยอื่นอีกประมาณ 3 บริษัทรับประกันภัยด้วย บริษัททั้งสามดังกล่าวได้ประชุมกันแล้วมีมติว่า ให้บริษัททั้งสามสอบสวนเบื้องหลังโรงภาพยนตร์เพชรพิมานถูกเพลิงไหม้ หากโจทก์มีส่วนพัวพันกับการวางเพลิงทางผู้ร้องและบริษัททั้งสามจะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ หากโจทก์ไม่มีส่วนพัวพันกับการวางเพลิงรายนี้ ผู้ร้องก็จะจ่ายเงิน 15,000,000 บาทให้แก่โจทก์โดยนำเงินมาวางศาลตามที่ศาลอายัดไป จำเลยที่ 3 แถลงยืนยันให้ผู้ร้องนำเงินมาวางศาล ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้แถลงว่าได้รับประกันภัยโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์ไว้จากโจทก์จำนวนเงิน 15,000,000 บาทจริง ทั้งปรากฏตามหนังสือของสำนักงานประกันภัย และหนังสือของผู้ร้องว่า โรงภาพยนตร์เพชรพิมานได้ประกันภัยไว้แก่ผู้ร้องเพียงบริษัทเดียวจำนวนเงิน 15,000,000 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่าหนี้ที่จำเลยที่ 3 ได้เรียกร้องให้อายัดจากผู้ร้องได้มีอยู่จริง จึงให้ผู้ร้องส่งเงิน15,000,000 บาท ที่ศาลอายัดมาวางศาลภายในกำหนด 30 วัน ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของผู้ร้องและขอทุเลาการบังคับในชั้นเสนอหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการทุเลาการบังคับผู้ร้องยื่นคำแถลงลงวันที่ 8 มิถุนายน 2522 ว่า ผู้ร้องได้มอบให้บริษัท เบน แอ๊ดจัสเตอร์ แอนด์เซอเวเยอร์ส จำกัด สำรวจความเสียหายที่แท้จริงเกี่ยวกับเพลิงไหม้ทรัพย์สินที่พิพาทแล้ว ความเสียหายทั้งหมด 8,243,627 บาท 04 สตางค์ หากกรณีถึงที่สุด ผู้มีสิทธิรับเงินค่าเสียหายที่แท้จริงดังกล่าวนี้เท่านั้น และผู้ร้องพร้อมจะเสนอหลักฐานการสำรวจนี้หากศาลประสงค์ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงิน 15,000,000 บาท ก็เพื่อนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 3 แทนที่โรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์ซึ่งถูกเพลิงไหม้เป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องอันอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ถึง 315 การที่ศาลชั้นต้นนัดผู้ร้องและจำเลยที่ 3มาพร้อมกัน สอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย พิจารณาคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารต่าง ๆ แล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 15,000,000 บาทที่อายัดมาวางศาล เป็นการไต่สวนและมีคำสั่งตามความในมาตรา 312 วรรคหนึ่ง แล้ว ในเรื่องความเสียหายที่แท้จริงของโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์ เมื่อผู้ร้องแถลงว่าหากโจทก์ไม่มีส่วนพัวพันกับการวางเพลิงรายนี้ผู้ร้องก็จะจ่ายเงิน 15,000,000 บาทให้โจทก์ ย่อมเป็นการรับว่าค่าเสียหายที่แท้จริงอย่างน้อยก็เท่ากับจำนวนเงินที่รับว่าจะจ่ายนั้น และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 15,000,000 บาทมาวางศาล โดยคำสั่งนั้นมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรือยกเสีย ข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหายของโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์จึงเป็นอันยุติ คำแถลงของผู้ร้องในชั้นเสนอหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการทุเลาการบังคับที่ว่า ความเสียหายแท้จริงของโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์เป็นเงิน 8,243,627 บาท04 สตางค์ ไม่อาจรับฟังได้ และศาลหาต้องไต่สวนความข้อนี้อีกไม่ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดวินาศภัยหรือไม่ แม้ในวันนัดพร้อมผู้ร้องแถลงว่าบริษัททั้งสามที่รับประกันภัยด้วยกันกับผู้ร้องมีมติให้สอบสวนเบื้องหลังของการที่โรงภาพยนตร์เพชรพิมานถูกเพลิงไหม้ก็ตาม แต่หลังจากนั้นผู้ร้องมิได้แถลงถึงข้อนี้อีก เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่อายัดหลังจากผู้ร้องแถลงข้อความดังกล่าวถึง 2 ปีเศษ ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดวินาศภัยแต่อย่างใดจนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคำแถลงของจำเลยที่ 3 ไปแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องจะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตนตามมาตรา 312 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งผู้ร้องหามีสิทธิโต้แย้งตามมูลหนี้เรื่องประกันภัยต่อไปดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับเงินจำนวน 15,000,000 บาทที่อายัดไปจากศาลได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 3 นำโฉนดที่ดินทั้งห้าฉบับมาวางศาล หรือห้ามจำเลยที่ 3 จำหน่าย จ่าย โอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจนกว่าจำเลยที่ 3 จะยอมให้โจทก์รับเงิน 9,668,000 บาทไปจากศาลได้และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าโจทก์จะรับแคชเชียร์เช็คเงิน 9,668,000 บาทไปได้ ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเงิน 15,000,000 บาทไปจากศาลเรียบร้อยแล้วนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับเงินจำนวน 15,000,000 บาทที่อายัดไปจากศาลได้และให้โจทก์รับแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 9,668,000 บาท ที่จำเลยที่ 3วางไว้ไปจากศาลได้แล้ว เงินหรือแคชเชียร์เช็คทั้งสองจำนวนอยู่ที่ศาลชั้นต้นหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น ทั้งสองฝ่ายสามารถขอรับไปได้ทันทีจึงไม่มีเหตุที่จะพิพากษาดังที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับแรกที่ว่า ต่อเมื่อโจทก์โอนที่ดินและทรัพย์สินตามสัญญาและบันทึกข้อตกลงให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจึงให้โจทก์รับแคชเชียร์เช็ไปจากศาลได้นั้น เห็นว่า โจทก์โอนที่ดินทั้งห้าแปลงให้จำเลยที่ 3 ไปตามคำพิพากษาแล้ว ส่วนเงินจำนวน 15,000,000 บาทมิใช่ทรัพย์ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกันจะนำไปเทียบเคียงกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมิได้ จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาในข้อนี้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งยกคำร้องของโจทก์และจำเลยที่ 3 สำหรับข้อนี้ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 3 และผู้ร้อง ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมของโจทก์ จำเลยที่ 3 และผู้ร้องในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share