คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์คดีนี้ก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมนั่นเอง โดยมีการหักจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามชำระให้โจทก์บ้างแล้วออกไปและรวมดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ค้างชำระเข้าไปด้วยเท่านั้นแต่การรับสภาพหนี้ไม่ก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นแต่ประการใดคงมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้นประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้จึงเนื่องมาจากมูลฐานที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งในคดีเดิมได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่โจทก์นำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอ้างอิงแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2514 จำเลยทั้งสามตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์81,125 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 55,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ ตกลงแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกจะชำระภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2514จำนวน 40,000 บาท งวดที่สองจะชำระส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2514 ครบกำหนด จำเลยทั้งสามไม่ชำระ จนวันที่ 13 กันยายน 2524 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตกลงรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่าเป็นหนี้โจทก์จริง จำนวน 81,125 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 55,000 บาท นับจากวันที่ 28 ตุลาคม 2514 เป็นต้นมา เป็นเงินดอกเบี้ย 82,500 บาทตกลงชำระภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2524 และในวันที่ 10ตุลาคม 2524 จำเลยที่ 3 ตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และตกลงจะชำระให้โจทก์ทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2524 จำเลยทั้งสามจึงเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น 163,625 บาท ครบกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ชำระจนถึงปี 2525 จำเลยทั้งสามนำเงินไปชำระให้โจทก์จำนวน 5,400บาท และต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2526 จำเลยทั้งสามตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์อีกว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ นับจากวันที่ 28 ตุลาคม 2514 เป็นต้นมา เมื่อหักส่วนที่ชำระแล้ว 5,400 บาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 158,225 บาทโดยตกลงจะนำเงินไปชำระแก่โจทก์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2526ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2526 จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์อีก20,000 บาท ส่วนที่เหลือ 138,225 บาท ตกลงจะชำระภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ครบกำหนดไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้วก็ไม่ชำระขอศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 138,225 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าบาทต่อปี ในต้นเงิน 55,000 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพียง3,000 บาท จำเลยให้ดอกเบี้ยบ้างไม่ให้บ้างโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นโจทก์จึงคิดเป็นต้นเงิน 55,000 บาท จำเลยยังคงชำระดอกเบี้ยบ้างไม่ชำระบ้างเมื่อรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินถึง 163,625 บาท ต่อมามารดาโจทก์ตกลงให้จำเลยหาเงินมาชำระหนี้โจทก์เพียง 40,000บาท โจทก์ก็ทราบดี จำเลยชำระให้โจทก์แล้ว 25,400 บาทส่วนที่ยังไม่ชำระอีก 20,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระโดยได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ที่ศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14ตุลาคม 2514 โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทันทีฉะนั้นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำกับโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2524 กับหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 จึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาประนีประนอมยอมความตกเป็นโมฆะ อีกทั้งโจทก์มิได้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำไว้กับโจทก์เมื่อวันที่13 กันยายน 2524 และวันที่ 10 ตุลาคม 2524 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2514 มีอยู่จริงก็หมดอายุความแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2524 บันทึกถ้อยคำสัญญาของจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 จึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 3ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน138,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน55,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้วโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จนคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิมหรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปัญหาประการแรกนั้น ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมต่อมาจำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์โดยกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ด้วย ครั้นครบกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์บ้างบางส่วนแล้วต่อมาจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวนหนี้ส่วนที่เหลือไว้ต่อโจทก์อีกโดยกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ด้วยก่อนครบกำหนดจำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์อีกบางส่วน และตกลงกับโจทก์เลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ส่วนที่เหลือออกไปอีกเมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้อีกเลย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์คดีนี้ก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมนั่นเอง โดยมีการหักจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามชำระให้โจทก์บ้างแล้วออกไปและรวมดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ค้างชำระเข้าไปด้วยเท่านั้นแต่การรับสภาพหนี้ไม่ก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นแต่ประการใด คงมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น ประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้จึงเนื่องมาจากมูลฐานที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งในคดีเดิมได้วินิจฉัยมาแล้วการที่โจทก์นำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ต้องยกฟ้อง
ปัญหาประการหลังนั้น เห็นว่าอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอ้างอิงแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปนั้นชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน

Share