คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับของคู่ความมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้คู่ความสืบพยานต่อไปอีกศาลก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสียได้ การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมายถึง การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากระทำด้วยวิธีใดโดยทำให้สภาพของการเป็นนายจ้างและลูกจ้างหมดไป การพักงานที่เป็นเพียงจำเลยให้โจทก์หยุดทำงานชั่วคราว สภาพของการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป โดยจำเลยยังมิได้แสดงเจตนาเลิกจ้างนั้น หาเป็นการเลิกจ้างตามประกาศดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2520 ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 4,500 บาท ต่อมาวันที่25 มิถุนายน 2530 จำเลยมีคำสั่งที่ 233/2530 พักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530 จนกว่าผลคดีจะถึงที่สุด เนื่องจากโจทก์ถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ของจำเลยที่สาขาประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ถือว่าการที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้ว แต่ในการเลิกจ้างดังกล่าวนี้จำเลยมิได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์แต่อย่างใดโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 27,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,000 บาทค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมคิดเป็นเงิน 276,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินสะสมเมื่อโจทก์ถูกออกจากงานโดยไม่มีความผิดเป็นเงินอีก 22,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 334,500 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 562 วัน เป็นเงิน 38,627 บาท โจทก์ติดต่อทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน334,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม การที่โจทก์มีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของจำเลยเบียดบังเอาเงินของจำเลยไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 209,360 บาท เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นใดให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า 1. จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ 2. ถ้าฟังว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ 3. โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินทุนสะสม ค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าเมื่อประมาณกลางปี 2530 บริษัทจำเลยสาขาประจวบคีรีขันธ์ตรวจสอบพบว่า เงินสดของสาขาหายไปเป็นเงิน 200,000 บาทเศษในวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินของจำเลยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาจำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ให้ดำเนินคดีดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และในระหว่างนั้นจำเลยได้สั่งพักงานโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 233/2530 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3พนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และคดียังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 9 กันยายน 2531 จำเลยได้มีหนังสือทวงถามเรียกเงินคืนจากโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2532โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้อง คำให้การและคำแถลงที่คู่ความรับกัน คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเสีย โจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไว้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งที่ 233/2530 ปรากฏชัดว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด กรณีจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46วรรคสอง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 อีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า ที่ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้วนั้น โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวยังไม่ชัดเจนพอเนื่องจากถึงแม้ว่าจำเลยจะอ้างว่ามิได้เลิกจ้าง เพียงแต่สั่งพักงานโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดเท่านั้น ข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่ปรากฎในคดียังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย เนื่องจากยังมีข้อเท็จจริงอื่น ๆประกอบอีกที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว มิใช่เป็นเรื่องพักงานโจทก์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี และคำแถลงรับของคู่ความดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้คู่ความสืบพยานต่อไปอีก ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสียจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ถือได้ว่า เป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้วนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากระทำด้วยวิธีใดโดยทำให้สภาพของการเป็นนายจ้างและลูกจ้างหมดไป แต่การพักงานในคดีนี้เป็นเพียงแต่จำเลยให้โจทก์หยุดทำงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนสภาพของการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป โดยจำเลยยังหาได้แสดงเจตนาเลิกจ้างไม่การพักงานจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 แต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share