คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการอายัดที่ดินซึ่งศาลได้พิพากษาบังคับให้จำเลยลูกหนี้โอนขายให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อขาย. แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องถอนการอายัดเพื่อให้คำพิพากษามีผลบังคับตามกฎหมาย. การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะตั้งข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการถอนอายัดโดยให้ต้องจดทะเบียนจำนวนเงินค่าซื้อที่ดินที่ยังค้างชำระอันเป็นบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์. ตลอดทั้งห้ามผู้รับโอนนำที่ดินนี้ไปทำนิติกรรมใดๆ มิได้. นอกจากจะนำไปจัดสรรเพื่อนำเงินที่ค้างมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาอันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิจะกระทำได้.
ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่ามีสิทธิที่จะขอให้จดทะเบียนบุริมสิทธิในมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273,276. ซึ่งหากไม่จดทะเบียนก็ไม่มีผลตามมาตรา 288นั้น. ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคู่สัญญามิได้ระบุให้จดทะเบียนไว้. ศาลก็มิอาจพิพากษาให้ครอบคลุมไปถึงได้.

ย่อยาว

เดิมก่อนจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย นางเลียบผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้โอนกรรมสิทธิที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้ซึ่งจำเลยกับนายฟ้อนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิส่วนของจำเลยและของนายฟ้อนในฐานะจำเลยเป็นผู้รับมรดกให้ผู้ร้องรวมเนื้อที่15 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ในราคา 660,000 บาท และรับเงินที่ต้องวางเมื่อโอนอีก 150,000 บาท (ผู้ร้องได้วางไว้แล้ว 50,000 บาทในชั้นทำสัญญาจะซื้อขาย) คู่ความขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการให้ตามนี้โดยเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนเรียบร้อยแล้ว จำเลยจะมารับเงินที่ผู้ร้องวางไว้ไปจากศาล ส่วนค่าที่ดินที่ยังค้างอีก460,000 บาท ผู้ร้องจะจ่ายให้จำเลยภายใน 3 ปีนับแต่วันโอนและระหว่างนี้เองจำเลยได้ถูกฟ้อง และถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2507 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องในคดีล้มละลายนี้ว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาล และศาลได้แจ้งไปทางเจ้าพนักงานที่ดินให้จัดการโอนให้แล้ว แต่ปรากฏว่าคงโอนได้เฉพาะส่วนของนายฟ้อนจำนวนเนื้อที่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นของจำเลยโอนไม่ได้ เพราะจำเลยถูกฟ้องล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้อายัดที่ดินส่วนของจำเลยนี้ไว้ ผลที่สุดเรื่องนี้ได้ขึ้นไปสู่ศาลฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองโดยสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการอายัด แต่ปรากฏตามหนังสือแจ้งการถอนอายัดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเป็นการถอนการอายัดโดยมีเงื่อนไขอยู่ด้วย คือ 1. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอจดทะเบียนบุริมสิทธิในมูลค่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไว้ตามจำนวนที่ค้างชำระคือจำนวน 259,000 บาท และ 2. ห้ามผู้รับโอนทำนิติกรรมใด ๆเกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนของลูกหนี้แปลงนี้ เว้นแต่จะกระทำการจัดสรรเพื่อนำเงินมาชำระให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าพนักงานได้ประชุมเจ้าหนี้และคงมีคำสั่งให้ถอนการอายัดตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ร้องจึงอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตามสัญญาจะซื้อขายมิได้มีข้อตกลงและศาลฎีกาก็มิได้กำหนดให้กระทำเช่นนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 276, 288 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ทรงบุริมสิทธิจดทะเบียนเอาเองทันที ตามสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงว่าเอาที่ดินไปจัดสรร หากผู้รับโอนไม่ปฏิบัติคู่กรณีอีกฝ่ายก็อาจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปไม่มีสิทธิจะห้ามในขณะนี้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการอายัดที่ดินการขอจดทะเบียนบุริมสิทธิในจำนวนเงินที่ค้างชำระการห้ามผู้รับโอนกระทำการใด ๆ เว้นแต่การจัดสรรแล้วโอนที่ดินให้ผู้ร้องโดยปราศจากเงื่อนไขดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อแรก คือการขอจดทะเบียนบุริมสิทธิเงินจำนวน 230,000 บาท (ไม่ใช่ 259,000 บาทซึ่งคำนวณผิด)อันเป็นมูลค่าซื้อที่ดินที่ค้างชำระว่าศาลแพ่งในคดีแดงที่ 1992/2505ได้มีคำพิพากษาไว้ชัดเจนแล้วว่าให้จำเลยไปจัดการโอน มิฉะนั้นก็ให้สำนักที่ดินจดทะเบียนไปตามคำพิพากษาโดยถือเอาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนเงินค่าที่ดินส่วนของจำเลยที่เหลืออีก 230,000 บาทผู้ร้องจะจ่ายให้จำเลยภายใน 3 ปีนับแต่วันโอนซึ่งในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษายืน ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการอายัดโดยจะวางเงื่อนไขให้นอกเหนือไปอีกหาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการถอนอายัดตามคำสั่งศาลอันถึงที่สุดแล้ว การขอจดทะเบียนบุริมสิทธิไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาปะปนกับการถอนอายัดซึ่งหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามีสิทธิจะขอให้จดทะเบียนบุริมสิทธิอย่างใดก็ชอบที่จะไปขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในชั้นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาทันทีโดยถอนการอายัดให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนตามคำสั่งศาลได้ ในประเด็นต่อไปอันเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อที่ 2นั้นก็เป็นการฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลฎีกาเช่นเดียวกัน พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นแรกเกี่ยวกับจำนวนเงิน 230,000 บาทที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้จดทะเบียนบุริมสิทธิในมูลค่าซื้อขายที่ดินที่ค้างชำระว่า เมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการอายัดที่ดิน ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องถอนการอายัดเพื่อให้คำพิพากษามีผลบังคับตามกฎหมายการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับถอนการอายัดโดยมีเงื่อนไขดังกล่าว และเงื่อนไขห้ามผู้รับโอนทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลย เว้นแต่จะจัดสรรเพื่อนำเงินมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นจึงเป็นการนอกเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งพิพากษาไปตามสัญญาจะซื้อขายที่คู่กรณีตกลงกันไว้ ข้อกำหนดในการถอนอายัดจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่ามีสิทธิที่จะขอให้จดทะเบียนเพราะเป็นหนี้บุริมสิทธิในมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์อันมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273, 276 ซึ่งหากไม่จดทะเบียนย่อมไม่มีผลต่อไปตามมาตรา 288 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคู่สัญญามิได้ระบุให้จดทะเบียนไว้ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้ครอบคลุมไปถึงได้พิพากษายืน.

Share