แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “สิ่งของ” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร มิได้มุ่งหมายฉะเพาะ “วัตถุ” ตามปทานุกรมเท่านั้นแต่หมายถึงวัตถุหรือสัตว์ ซึ่งอาจซื้อขายได้
โคของกลางที่จำเลยกระทำผิดฝ่าฝืนประกาศผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรนั้น หากเป็นของผู้อื่น ซึ่งมิได้กระทำผิดด้วยจะริบเสียไม่ได้ ต้องคืนให้เจ้าของ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยักย้ายโค ๒ ตัวของ ย. ผู้เป็นลุงจากบ้านข้างวัดโคกเสม็ด ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อเอาไปเลี้ยงในเขตท้องที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการฯ แต่ถูกจับเสียก่อนในระหว่างทาง จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยคนละ ๕๐ บาท โดยลดกึ่งหนึ่งแล้ว ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรมาตรา ๖,๘,๑๐,๑๗,๑๘ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๕๙,๑๘ ริบโคของกลางและให้จ่ายเงินรางวัลและสินบล
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โคไม่ใช่สิ่งของตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร คณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจประกาศห้ามยักย้ายโค โดยอาศัย พ.ร.บ.ดังกล่วแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์ฉะเพาะข้อริบโค ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายกฟ้องได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนโคของกลาง แต่มีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “สิ่งของ” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรนั้น มิได้มุ่งหมายฉะเพาะ “วัตถุ” ตามปทานุกรมเท่านั้น แต่หมายถึงวัตถุหรือสัตว์ ซึ่งอาจมีการซื้อขายได้ เช่น โค, กระบือ, สุกร และเป็ดไก่ เป็นต้น แต่ที่ศาลชั้นต้นให้ริบของกลางด้วยนั้น พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ๒๔๙๐ มาตรา ๒๙ หาได้บัญญัติให้ริบโดยไม่คำนึงถึงทรัพย์ของผู้อื่นไม่ โคของกลางรายนี้เป็นของ ย. ๆ ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยจึงริบไม่ได้ ส่วนเงินสินบลอัยยการไม่มีอำนาจฟ้องเรียก
พิพากษาแก้ บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อริบทรัพย์กับเงินสินบล คืนโคของกลาง.