แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยแต่ละคนมีตำแหน่งอะไร มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์อย่างไร และจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับในเรื่องอะไร เมื่อใดและทำอย่างไร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการกระทำแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าใด ไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาทั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าไม่เข้าใจข้อหาในตอนใด จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงไม่เคลือบคลุม.
โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้ากับบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในมูลละเมิดแต่ศาลแพ่งได้จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งห้าออกจากสารบบความ เพราะได้มีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อยู่ในอำนาจพิจารณา พิพากษาของศาลแรงงานกลาง เช่นนี้ โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลางในเรื่องใดย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าต้องฟ้องตามเรื่องเดิม
คำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ โดยร่วมกันทำเรื่องเสนอและอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ ว. เป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้ว จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งการจ้างซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่นถึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจพ.ศ. 2518 ข้อ 5 กำหนดให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจแก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์ เมื่อการสั่งซื้อสั่งจ้าง ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เป็นการสั่งซื้อสั่งจ้าง โดยตรง ไม่ผ่านการติดต่อของ ว.ว. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจ การที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ ว. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว
ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518นอกจากข้อ 5 แล้ว ข้อ 7 กำหนดให้พนักงานเดินตลาดหรือบุคคลอื่นนำหลักฐานขอซื้อผลิตภัณฑ์ของลูกค้าซึ่งตนเป็นผู้ติดต่อแนะนำนั้นเสนอต่อแผนกขายเพื่อพิจารณา ตรวจสอบการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกขายทำบันทึกเสนอเรื่องให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ โดยไม่มีผู้มาขอรับและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ เสนอให้จ่ายเงินดังกล่าวได้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความชัดเจนว่า ว. มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจ หรือไม่จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 5 ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการโจทก์สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ ให้ไปโดยความประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ เรียกโดยย่อว่า อสร. เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายการค้า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการเงินและบัญชี จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอำนวยการ จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกขาย และจำเลยที่ 5 ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการของโจทก์ จำเลยทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ แบบแผน ข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแห่งสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและข้อบังคับของโจทก์เพื่อระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์โจทก์มีข้อบังคับว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 ลงวันที่17 กรกฎาคม 2518 กำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจเป็นการตอบแทนในการขายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ให้แก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2522 จำเลยที่ 5 ได้แต่งตั้งให้ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ ตามคำสั่งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ 206/2522ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2522 โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3มีหน้าที่พิจารณาเรื่องการขออนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจจากการขายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ แล้วสรุปเสนอต่อผู้อำนวยการของโจทก์เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2512 วันที่ 27 กรกฎาคม 2514 และวันที่ 17 เมษายน 2522 ให้กระทรวงทบวง กรม ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล สั่งจ้างและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากโจทก์เพียงแห่งเดียวโดยวิธีพิเศษไม่ต้องสืบราคาหรือประกวดราคาและกระทรวงกลาโหมมีคำสั่ง (เฉพาะ)ที่ 102/20 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมทุกหน่วยงานสั่งซื้อหรือสั่งจ้างทำผลิตภัณฑ์จากโจทก์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง ปี พ.ศ. 2524จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 กล่าวคือ เมื่อวันที่20 มีนาคม 2523 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ได้สั่งจ้างโจทก์ผลิตเสบียงสนาม จำนวนทั้งสิ้น 20 ล้านบาท ได้ชำระราคาให้โจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2523กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในได้สั่งซื้อเสบียงสนามคิดเป็นเงิน20 ล้านบาท ได้จ่ายเงินจำนวน 20 ล้านบาท แก่โจทก์แล้ว เมื่อวันที่4 กันยายน 2523 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากโจทก์เป็นเงิน 3,549,000 บาท ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2523กรมพลาธิการทหารบก (พธ.ทบ.) ได้สั่งจ้างโจทก์ทำเสบียงสนามเป็นเงิน2,999,988 บาท ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2524 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.)ได้สั่งจ้างโจทก์ทำเสบียงกระป๋อง เป็นเงิน 4,999,191 บาท และได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2524กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้สั่งจ้างโจทก์ผลิตเสบียงสนามเป็นเงิน 4,499,998 บาท ได้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วการสั่งซื้อสั่งจ้างดังกล่าวข้างต้นเป็นการติดต่อสั่งซื้อสั่งจ้างกันโดยตรงไม่ผ่านพนักงานเดินตลาดหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด ทั้งเป็นการสั่งซื้อสั่งจ้างในกรณีพิเศษ ไม่ต้องสืบราคาหรือประกวดราคาอันเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีและคำสั่งกระทรวงกลาโหม(เฉพาะ) ที่ 102/2520 ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้โจทก์ไม่ต้องจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ แต่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ได้กระทำผิดสัญญาจ้างแก่โจทก์ โดย ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ กล่าวคือจำเลยที่ 4 ในฐานะหัวหน้าแผนกขาย ได้บันทึกข้อความเสนอฝ่ายการค้าให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ โดยจำเลยที่ 4 มิได้ให้บุคคลที่อ้างว่ามีสิทธิรับเงินค่าดำเนินธุรกิจ นำหลักฐานการขอซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาพิจารณาตรวจสอบ อีกทั้งกรณีสั่งจ้างมิใช่การสั่งซื้อ จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายการค้า ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ากรณีการสั่งจ้างนั้น จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจไม่ได้จำเลยที่ 1 ยังได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจพิจารณาดำเนินการต่อไป คณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจซึ่งประกอบด้วย จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดว่ากรณีดังกล่าวนี้ จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจไม่ได้ และได้เสนอความเห็นต่อจำเลยที่ 5 เพื่ออนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ ประภามนตรีพงศ์ไปรวม 8 ครั้งเป็นเงิน 616,475.84 บาท การกระทำของจำเลยทั้งห้าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของโจทก์อย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่ 2/2511 ว่าด้วยระเบียบวินัยของพนักงานองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2511 และข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยพนักงาน พ.ศ. 2524 ต่อมามีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ(ปปป.) ว่าได้มีการทุจริตเบิกเงินค่าดำเนินธุรกิจของโจทก์ไปใช้โดยมิชอบ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ จึงได้เข้ามาดำเนินการสอบสวน และได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานทั้งสามก็ได้รับหนังสือยืนยันว่าไม่เคยติดต่อสั่งซื้อ สั่งจ้างโดยผ่านการติดต่อหรือแนะนำจากนายวีรวัฒน์ ประภามนตรีพงศ์ แต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 และหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดทางแพ่ง ซึ่งปรากฏผลจากการสอบสวนความรับผิดชอบทางแพ่งว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามสภาพข้อตกลงแห่งการจ้างอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยจำเลยทั้งห้าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในทางการที่จ้างขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 104,490.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่จ่ายเงินของแต่ละรายการจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 48,694.30 บาท และดอกเบี้ยต่อไปอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 104,490.88 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ รวมเป็นเงิน 511,984.96บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุคือวันจ่ายเงินของแต่ละรายการถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 283,950.93บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 511,984.96 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การโดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจพ.ศ. 2518 แต่ประการใด จำเลยทั้งห้ามิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่ 2/2511 ว่าด้วยระเบียบวินัยของพนักงานองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2511 และข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ว่าด้วยพนักงาน พ.ศ. 2524 แต่ประการใดมติของคณะรัฐมนตรีและคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 102/20ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ที่โจทก์อ้างถึงเป็นเพียงนโยบายที่ออกมากำชับให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลให้การช่วยเหลือสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความควบคุมดูแลและรับผิดชอบเท่านั้น มติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ตราขึ้นใช้บังคับกับโจทก์ และมิได้ใช้บังคับเฉพาะเจาะจงกับโจทก์ ซึ่งองค์การโจทก์นั้นได้มีข้อบังคับว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับภายในอยู่แล้ว จึงไม่มีผลใช้บังคับกับองค์การโจทก์ จำเลยทั้งห้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งกระทรวงกลาโหมเพราะคณะกรรมการองค์การโจทก์ได้เคยอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ส่วนราชการ และผู้ติดต่อแนะนำลูกค้าให้มาซื้อผลิตภัณฑ์ขององค์การโจทก์ตลอดมาหลายครั้ง และคณะกรรมการองค์การโจทก์ได้เคยนำเรื่องนี้ไปหารือกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การโจทก์ที่จะอนุมัติจ่ายได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการองค์การโจทก์อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ไม่ได้ทักท้วง และยังรับรองงบดุลขององค์การโจทก์ในช่วงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วย ใบสั่งจ้างตามฟ้องโจทก์แท้จริงก็คือใบสั่งซื้อ ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเสียภาษีของฝ่ายโจทก์ให้น้อยลง การสั่งซื้อและการสั่งจ้างทั้งหมดในคดีนี้มิใช่เป็นการสั่งโดยตรงดังที่โจทก์อ้างแต่เพราะนายวีรวัฒน์ธิดารัตนกุล เป็นผู้ติดต่อแนะนำดำเนินการให้มีการสั่งซื้อและสั่งจ้างดังกล่าว การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ธิดารัตนกุล นั้น จึงเป็นการจ่ายที่ถูกต้องและการพิจารณาจ่ายทุกครั้งได้มีการตรวจสอบหลักฐานในการจ่ายค่าดำเนินธุรกิจโดยรอบคอบโดยผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดอย่างไรแค่ไหน เพียงใด ใครกระทำละเมิดส่วนใดมากน้อยกว่ากันอย่างไรจำเลยทั้งห้าไม่สามารถเข้าใจข้อกล่าวหา ไม่อาจยกข้อต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 และคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานตามข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยความรับผิดชอบในทางแพ่งของพนักงาน อสร. พ.ศ. 2511 ข้อ 7 ก. และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (8)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 511,984.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันจ่ายเงินแต่ละจำนวนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 283,950.93 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงินจำนวน 511,984.96 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,490.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันจ่ายเงินแต่ละจำนวนจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 48,694.30 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงิน104,490.88 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งห้าต่างอุทธรณ์ซึ่งพอสรุปอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ อุทธรณ์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยแต่ละคนมีตำแหน่งอะไร มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์อย่างไร และจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับในเรื่องอะไรเมื่อใด และทำอย่างไร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการกระทำแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าใด ไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา และตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าไม่เข้าใจข้อหาในตอนใด คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
อุทธรณ์ข้อสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ กล่าวคือ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้ากับบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 21848/2528 ในมูลละเมิด และเรียกค่าเสียหาย ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(5) จึงส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งห้าโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้โดยเพิ่มเติมสาเหตุว่าจำเลยทั้งห้าทำการผิดสัญญาจ้าง โดยไม่ฟ้องตามคำฟ้องเดิมที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะได้เพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวแล้วคดีโจทก์ก็มีประเด็นสำคัญเป็นเรื่องละเมิด จึงมีอายุความ 1 ปีเมื่อโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดวันที่ 8 ธันวาคม2525 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลแพ่งในวันที่ 15 ตุลาคม 2528คดีจึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลแพ่งจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งห้าออกจากสารบบความแล้ว โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลางในเรื่องใด ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าต้องฟ้องตามเรื่องเดิมและตามเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้านั้นเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 โดยร่วมกันทำเรื่องเสนอและอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ ธิดารัตนกุล ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งการจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ายังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้าง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อุทธรณ์ข้อสามว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2509 มาตรา 13, 15 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการองค์การโจทก์มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายควบคุมดูแลกิจการองค์การโจทก์ คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการประชุมทุกเดือนบรรดามติของคณะกรรมการ ซึ่งผู้อำนวยการของโจทก์ต้องปฏิบัติตามเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจคดีนี้ คณะกรรมการได้ประชุมครั้งที่ 11/2525/194 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2525 ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล. 1/3 ว่า การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว จึงต้องถือว่าการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการถูกต้องตามข้อบังคับ และถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแล้ว จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิด และโจทก์ต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าว ไม่สามารถหยิบยกมาฟ้องเป็นคดีได้อีก นั้นเห็นว่าตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518ข้อ 5 ให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขององค์การโจทก์ และข้อเท็จจริงคดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ฟังว่า ในการสั่งซื้อสั่งจ้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องจากโจทก์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.ทบ.) และกรมพลาธิการทหารบก (พธ.ทบ.) เป็นการสั่งซื้อสั่งจ้างโดยตรง ไม่ผ่านการติดต่อของนายวีรวัฒน์ นายวีรวัฒน์ไม่มีสิทธิได้รับค่าดำเนินธุรกิจ ข้อเท็จจริงจึงยุติต้องรับฟังตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา การที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวของโจทก์และตามรายงานการประชุมครั้งที่11/2525/194 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2525 เอกสารหมาย ล.1/3 ที่จำเลยอ้างถึงนั้นเป็นเรื่องการพิจารณาว่าด้วยการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ และมีการแก้ไขตามรายงานการประชุมครั้งที่ 13/2525/196เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 เอกสารหมาย จ.70 ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานที่ประชุมได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจที่รอง ผอ.อสร.รักษาการหัวหน้าฝ่ายการค้า(นายถนัดชัย วัลลิสุต) เป็นผู้ไปติดต่อประสานงานกับหน่วยงานนั้น ๆด้วยตนเองทั้งสิ้น จึงควรเป็นผู้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจตามข้อบังคับและที่ประชุมมีมติให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อบังคับซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์คดีนี้ การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจแต่ละรายการจะถูกต้องตามข้อบังคับของโจทก์หรือไม่ อย่างไร ต้องพิจารณาถึงการจ่ายในเรื่องนั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป และไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดที่ให้อำนาจคณะกรรมการให้สัตยาบันในการดำเนินงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับให้กลับเป็นถูกต้องตามข้อบังคับได้ การดำเนินการของจำเลยทั้งห้าที่เสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ตามฟ้องจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์
อุทธรณ์ข้อสี่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 เป็นคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจมีเพียงหน้าที่พิจารณาแทนผู้อำนวยการ เมื่อพิจารณาแล้วผู้อำนวยการจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติเป็นอำนาจของผู้อำนวยการ จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้ตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้น ไม่มีอำนาจในการอนุมัติ จำเลยที่ 1ถึงจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหาย เห็นว่าในกรณีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 ข้อ 5 ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์ และข้อ 7ระบุให้พนักงานเดินตลาดหรือบุคคลอื่นนำหลักฐานขอซื้อผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ซึ่งตนเป็นผู้ติดต่อแนะนำนั้นเสนอต่อแผนกขายเพื่อพิจารณาตรวจสอบ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกขายได้ทำบันทึกข้อความเสนอเรื่องให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจโดยไม่มีผู้มาขอรับและจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ ก็พิจารณาเสนอให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจได้โดยที่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความชัดเจนก่อนว่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งตามฟ้องนั้น ได้มีผู้มาติดต่อแนะนำลูกค้ามาซื้อจริงหรือไม่ และนายวีรวัฒน์ ธิดารัตนกุล มีสิทธิรับเงินค่าดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ โดยเฉพาะนายวีรวัฒน์ก็ไม่เคยทำเรื่องเป็นหลักฐานขอรับเงินค่าดำเนินธุรกิจเลย และตามหลักฐานการขออนุมัติเบิกเงินค่าดำเนินธุรกิจตามเอกสารหมาย จ.38, จ.40และ จ.41 ก็ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ กอ.รมน.และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.และตามเอกสารหมาย จ.44, จ.47, จ.48, จ.50 ก. และจ.53 ก็ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้ผู้ดำเนินการติดต่อโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงิน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 5 ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการโจทก์สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้ไป และการสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 5 ก็สั่งอนุมัติไปด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัด และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เช่นเดียวกันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์…”
พิพากษายืน