คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภารจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1379 หรือมาตรา 1399ดังนั้น แม้ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีและรับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากจำเลยทั้งเจ็ดโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2จะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปเพราะเหตุที่มิได้จดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ แม้ภารจำยอมตามแนวที่กำหนดไว้เดิมแปรสภาพไปตั้งแต่ ก่อนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยจะต้องไปดำเนินการขอให้ย้ายภารจำยอม หรือขอให้ภารยทรัพย์บางส่วนพ้นจากภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1392 หรือมาตรา 1394 ไม่อาจอ้างว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดี ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างใด จึงไม่อาจขอให้ยกเลิก การบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ทางเดินพิพาทกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวทางเดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 1253 ตำบลวัดพระยาไกร อำเภอยานนาวากรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ยาวประมาณ 91 เมตร และในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1251 และ 1252 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7ยาวประมาณ 63 เมตร และ 72.50 เมตร ตามลำดับ เป็นทางภารจำยอมให้จำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดเพื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 เลขที่ดิน 19 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด ให้จำเลยทั้งเจ็ดรื้อสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่ได้กระทำลงบนทางพิพาท ให้จำเลยทั้งเจ็ดทำสะพานไม้ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งเจ็ดและให้ยกฟ้องจำเลยร่วม คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการบังคับคดี2 ราย เพื่อความสะดวกต่อการพิพากษาจึงให้เรียกผู้ร้องรายแรกว่าผู้ร้องรายที่ 1 และให้เรียกผู้ร้องรายหลังว่าผู้ร้องรายที่ 2โดยผู้ร้องทั้งสองรายยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่าผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534วันที่ 29 สิงหาคม 2531 และวันที่ 4 ตุลาคม 2534 ตามลำดับผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 47329, 48677 และ 47365 และเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 2027/81, 2027/132 และ 2027/80ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 47329, 48677 และ 47365 แบ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1253 ของจำเลยที่ 1 สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการรื้อถอนและทำสะพานไม้เป็นสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจที่จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกเลิกการบังคับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองราย
ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ผูกพันผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 โจทก์มิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งภาระจำยอม โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาอันยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้ได้มาซึ่งที่ดินและตึกแถวส่วนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการรื้อถอนโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วได้นั้น เห็นว่าภารจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399 ดังนั้น แม้ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีและรับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากจำเลยทั้งเจ็ดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ก็จะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้น ต้องสิ้นไปเพราะเหตุที่มิได้จดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2502 ระหว่างหลวงสุภาเทพ โจทก์นางอิ่มจิตร ถาวรธนสาร จำเลย ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อตามคำร้องของ ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งได้แล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องของ ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ที่ผู้ร้องรายที่ 2 อ้างว่า โดยสภาพปัจจุบันทางภารจำยอมตามแนวทางที่กำหนดไว้เดิมแปรสภาพไปตั้งแต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงหมดประโยชน์ที่จะใช้และไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ แก่สามยทรัพย์แล้วนั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2กับจำเลยจะต้องดำเนินการขอให้ย้ายภารจำยอมหรือขอให้ภารยทรัพย์บางส่วนพ้นจากภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1392 หรือมาตรา 1394 ไม่อาจอ้างว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้ทำได้ ทั้งไม่อาจขอให้ยกเลิกการบังคับคดีเพราะไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share