แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ โดยทนายความที่ลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18, 62
การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยผู้ลงชื่อในฟ้องอุทธรณ์ไม่มีอำนาจนั้นเป็นเรื่องผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อได้มีการแก้ไขตามคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์นั้นย่อม สมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางประคองส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าและให้ไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้โจทก์และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการเช่าภายใน 30 วัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่โจทก์ฎีกาว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทนายจำเลยผู้ลงชื่อในฟ้องอุทธรณ์แทนจำเลยมิได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งจากจำเลยให้อุทธรณ์ได้ จำเลยจะให้สัตยาบันในภายหลังและยื่นใบแต่งทนายเข้ามาใหม่ให้มีอำนาจในการอุทธรณ์ย้อนหลังไม่ได้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ตรวจพบว่านายสุทัศน์ เงินหมื่อน ทนายความจำเลยทั้งสองไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้อง อันเป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18, 62 ตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาเช่นคำพิพากษาฎีกาที่ 935/2498 เมื่อจำเลยทั้งสองได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยยื่นใบแต่งทนายความให้นายสุทัศน์ เงินหมื่นมีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ศาลฎีกายังเห็นต่อไปว่ากรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 อีกด้วย กล่าวคือ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยผู้ลงชื่อในฟ้องอุทธรณ์ไม่มีอำนาจนั้นเป็นเรื่องผิดระเบียบ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อได้มีการแก้ไขตามคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมสมบูรณ์
พิพากษายืน