คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10511/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับข้ออ้างตามฟ้องแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในคำให้การมิได้เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ กลับเป็นข้อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์กับคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีต่างหาก เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเพราะมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การได้รับวินิจฉัย ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ นายอัศวิน และนางสาวกนกวรรณ และคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๗๔/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราจึงโอนคดีมายังศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดค่าทนาย ความ ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ ๒ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องแทนนายอัศวินต่อจำเลยทั้งสองเพื่อขอให้พิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมระหว่างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวกับจำเลยที่ ๒ นายอัศวินและนางสาวกนกวรรณ (จำเลยในคดีดังกล่าว) ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโมฆะ โดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรทั้งสองแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้บุตรทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงแก่จำเลยทั้งสองโดยศาลมิได้มีคำสั่งอนุญาตเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๗๔ (๑๒) และมาตรา ๑๕๗๕ ต่อมาบุตรทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้วจึงได้บอกล้างสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งในส่วนของจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ พูดจาขู่เข็ญให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ ๒ ไม่รู้ว่าข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอย่างไร ส่วนบุตรทั้งสองลงลายมือชื่อยินยอมตามที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบิดาบอกและขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ เห็นได้ว่า คำให้การของจำเลยที่ ๒ มิได้ยกข้อต่อสู้ใดๆ เป็นข้อแก้คำฟ้องของโจทก์ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” เมื่อจำเลยที่ ๒ มิได้ให้การปฏิเสธถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้อนุญาตให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำฟ้องหรือไม่ ย่อมต้องถือว่า จำเลยที่ ๒ ยอมรับข้ออ้างตามฟ้องแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ ๒ ในคำให้การมิได้เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ กลับเป็นข้อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ และเป็นปฏิปักษ์กับคำให้การของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ต้องยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีต่างหาก เนื่องจากจำเลยที่ ๒ มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยที่ ๒ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒/๒๕๓๙ ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๗๔ และมาตรา ๑๕๗๕ คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นข้อที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์แทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ เพราะมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ส่วนอุทธรณ์ในข้อที่ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ทราบข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือบุตรทั้งสองลงลายมือชื่อตามคำบอกของจำเลยที่ ๑ ก็มิใช่ประเด็นข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การได้รับวินิจฉัยย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำให้ผลตามคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share