คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้กำลังชกต่อยที่หัวไหล่ขวาและบีบคอจนศรีษะของโจทก์กระแทกฝาห้องน้ำ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 คดีถึงที่สุดแล้ว คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของโจทก์ และเมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 โดยตรง กรณีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหาย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์โดยชกต่อยบริเวณไหล่ขวาของโจทก์ และใช้มือบีบคอโจทก์จนศรีษะกระแทกฝาห้องน้ำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง และได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ ต้องทนทุกขเวทนาหวาดผวา และมีอาการประสาทหลอน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มีนาคม2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ระหว่างเวลาพักกลางวันที่โรงเรียนบ้านใหม่โสพิมพ์ ตำบลบ่อทอง กิ่งอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ใช้กำลังทำร้ายโจทก์โดยชกต่อยที่หัวไหล่ขวา 1 ครั้ง และบีบคอจนศีรษะของโจทก์กระแทกฝาห้องน้ำ1 ครั้ง ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 พนักงานอัยการประจำศาลแขวงลพบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงลพบุรี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลแขวงลพบุรีพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ตามที่บรรยายมาในฟ้องเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้กำลังทำร้ายโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่นายแพทย์เสนาะให้ยาระงับประสาทแก่โจทก์เป็นเพียงวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ นายแพทย์เสนาะมิได้ยืนยันว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 โดยตรงแต่อย่างใด เพราะนายแพทย์เสนาะเบิกความเพียงว่า โจทก์มารับการรักษาจากพยานเนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไป พยานได้แนะนำให้มารดาโจทก์พาโจทก์ไปรักษาตัวที่ศูนย์สุขวิทยาจิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากคำเบิกความถึงสาเหตุแห่งการมารับการรักษาดังกล่าวนั้น เชื่อได้ว่าเกิดจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไปเอง หาใช่เป็นเพราะการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ไม่ และข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าโจทก์ไม่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ซึ่งมีรูปร่างใหญ่กว่าทำร้ายแต่ฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้ ในขณะที่เพื่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นเหตุการณ์ไม่เข้าช่วยเหลือ การที่โจทก์มีอาการขวัญผวา หน้ามืด ปวดศรีษะ กลัวคนทำร้าย และจิตผิดปกติ จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์นั้นเป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลโดยตรงมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้เป็นพับ แม้ไม่ได้พิพากษาว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยก็ตาม แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายความรวมถึงส่วนที่มิได้พิพากษาแก้นั้นให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ได้ความชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มข้อความว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share