แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามธรรมดาบุคคลที่จะ อ้างอาศัยมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องเป็นเจ้าหนี้ของผู้กระทำนิติกรรมการโอนทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำร้องขอต่อศาลในกรณีเช่นนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลในคดีล้มละลายไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่เท่านั้น ฉะนั้นอายุความที่จะใช้นับก็ย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ นั้นจริง ๆ เป็นเกณฑ์พิจารณาจะถือเอาวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นหลักนับวันเริ่มต้นอายุความไม่ได้เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นการขยายอายุความออกไปโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้
เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้วเจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ซึ่งอ้างอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นี้ ย่อมจะต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่ามีการฉ้อฉลกัน เพราะไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบที่เป็นคุณแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าหนี้ของลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้รู้ถึงการโอนหุ้นพิพาทนี้ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องให้ล้มละลายจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้ก็น่าจะรู้ได้แล้วว่าการโอนหุ้นที่ลูกหนี้ได้กระทำลงไปนั้น เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่เจ้าหนี้ก็หาได้ใช้สิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนหุ้นดังกล่าวไม่ เมื่อนับจากวันที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอต่อศาลก็เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240
ย่อยาว
คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายบุญจิตต์ ผู้ล้มละลายได้ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายบุญจิตต์ พงษ์เภตรารัตน์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2514 และต่อมาได้พิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 และเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนและเพิกถอนการโอนระหว่างนายบุญจิตต์ลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับนายไสว พงษ์เภตรารัตน์และนายสว่าง พงษ์เภตรารัตน์โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2509 ลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้โอนหุ้นในบริษัทสยามไม้อัด (ศรีบุญจิตต์) จำกัด ซึ่งชำระค่าหุ้นเต็มแล้ว ให้แก่บุตรชาย 2 คน คือนายไสว 1,000 หุ้นมูลค่า 1,000,000 บาท และให้นายสว่าง 208 หุ้น มูลค่า 208,000 บาท โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งลูกหนี้ผู้ล้มละลายรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ โดยลูกหนี้มีหนี้สินอยู่ก่อนการโอนหุ้น 6 ราย คือเป็นหนี้นางเพี้ยน เมฆะ ประมาณ 200,000 บาท นางบำรุง อั้นไชยะประมาณ 400,000 บาท นายเทียน อังสนันท์ ประมาณ 800,000 บาท นางนิตยา หุ่นอารักษ์ ประมาณ 624,000 บาท นางสาวทองคำ มณีพูล 250,000 บาท และเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 470,119 บาท 88 สตางค์ รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้นก่อนการโอนหุ้นเป็นจำนวน 3,144,119 บาท 88 สตางค์ การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาศัยอำนาจตามมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายบุญจิตต์ พงษ์เภตรารัตน์ลูกหนี้ผู้ล้มละลาย กับนายไสว พงษ์เภตรารัตน์และนายสว่าง พงษ์เภตรารัตน์เสีย และขอให้บังคับให้นายไสวและนายสว่าง โอนหุ้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย หากไม่ยอมโอนก็ให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
นายไสว พงษ์เภตรารัตน์ และนายสว่าง พงษ์เภตรารัตน์ยื่นคำคัดค้านว่า หุ้นที่รับโอนมาเป็นหุ้นที่มารดาผู้ร้องออกทุนให้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายซื้อไว้ เพื่อให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง การที่มารดาผู้คัดค้านให้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายโอนแก้ชื่อมาเป็นของผู้คัดค้านจึงไม่ใช่เป็นการโอนหุ้น แต่หากเป็นการโอนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของอันแท้จริงการโอนหุ้นรายนี้ได้ทำลงโดยความรู้เห็นยินยอมของกรรมการผู้ถือหุ้นบริษัทสยามไม้อัด (ศรีบุญจิตต์) จำกัด ซึ่งมีนายเทียน อังสนันท์ นางนิตยา อุ่นรารักษ์และนางสาวทองคำ มณีพูล รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านไม่ทราบว่าในขณะรับโอนหุ้นมานั้น ลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีหนี้กับผู้หนึ่งผู้ใดอันจะทำให้ต้องเสียเปรียบ และในขณะที่โอนหุ้นกันนี้ก็ปรากฏว่าลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีสินทรัพย์เป็นส่วนของตนอยู่เกินกว่าสี่ล้านบาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดหุ้นของผู้คัดค้านไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย ได้เรียกผู้คัดค้านไปสอบสวนตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2515 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ทุกคนทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนนี้นับถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องต่อศาลเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี คดีขาดอายุความตาม มาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
นายบุญจิตต์ พงษ์เภตรารัตน์ลูกหนี้ผู้ล้มละลายแถลงคัดค้านโดยขอตัดฟ้อง (คำร้อง) ว่า นิติกรรมการโอนหุ้นรายนี้ทำขึ้นก่อนถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเกินกว่าสามปีแล้ว ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทราบถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนนี้โดยชัดแจ้ง แต่ไม่ได้ร้องขอต่อศาลเสียภายในกำหนดหนึ่งปี คดีขาดอายุความตามมาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นของบริษัทไม้อัด (ศรีบุญจิตต์)จำกัด ตั้งแต่หุ้นเลขที่ 1966 – 2965 ระหว่างนายบุญจิตต์ กับนายไสว จำนวน 1,000 หุ้น และตั้งแต่หุ้นเลขที่ 5356 – 5557 ระหว่างนายบุญจิตต์กับนายสว่างจำนวน 208 หุ้น ให้นายไสวและนายสว่างโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย หากไม่ยอมโอนก็ให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามธรรมดาบุคคลที่จะอ้างอาศัยมาตรา 237 นี้ได้จะต้องเป็นเจ้าหนี้ของผู้กระทำนิติกรรมการโอนทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำร้องขอต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลในคดีล้มละลายไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่เท่านั้น ฉะนั้นอายุความที่จะใช้นับก็ย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริง ๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา จะถือเอาวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นหลักนับวันเริ่มต้นอายุความไม่ได้เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นการขยายอายุความออกไปโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ และเป็นการขัดต่อความเป็นจริงด้วย ทั้งนี้เพราะถึงแม้จะเป็นเจ้าหนี้จริงที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่ เจ้าหนี้ในภายหลังจะถือย้อนไปว่าตนได้ถูกฉ้อฉลด้วย ตั้งแต่ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อนึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ซึ่งอ้างอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 นี้ย่อมจะต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า มีการฉ้อฉลกัน เพราะไม่มีข้อยกเว้น เกี่ยวกับหน้าที่นำสืบที่เป็นคุณแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผิดกับในมาตราถัดต่อไป
ส่วนข้อที่ขอให้สั่งเพิกถอนการโอนหุ้นรายพิพาทนั้น เจ้าหนี้ของลูกหนี้ผู้ล้มละลายส่วนใหญ่ได้เบิกความว่าได้รู้ถึงการโอนหุ้นรายพิพาทนี้ ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องให้ล้มละลายจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ก็น่าจะรู้ได้แล้วว่า การโอนหุ้นที่ลูกหนี้ได้กระทำลงไปนั้น เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เจ้าหนี้ก็หาได้ใช้สิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนหุ้นดังกล่าวไม่ และเมื่อนับจากวันที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คือวันที่ 18 ตุลาคม 2514 ถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอต่อศาล คือวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 ก็เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว อย่างไรก็ตามแม้จะฟังว่าเจ้าหนี้เพิ่งรู้ถึงมูลเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทในวันที่เจ้าหนี้ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เมื่อนับจากวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เรียกลูกหนี้มาสอบคือวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอต่อศาลก็เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้วเช่นเดียวกัน คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้ว
พิพากษากลับเป็นว่าให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องเสีย