คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ที่ให้จำเลยอาศัย ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่า ในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใด แต่ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งคดีอื่นที่จำเลยอ้างต่อสู้คดีว่าที่พิพาทรายนี้เป็นของวัดสุบรรณนิมิตร จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับวัดสุบรรณนิมิตรในสำนวนดังกล่าว โดยวัดสุบรรณนิมิตรให้จำเลยเช่ามีกำหนด 10 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 30 บาท เทียบได้เท่ากับค่าเช่าเดือนละ 2.50 บาท ช่วงเวลาที่วัดให้จำเลยเช่าอยู่ระหว่างโจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงพอรับฟังว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องนั้นที่พิพาทที่โจทก์ฟ้องในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าหรืออาศัย จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 มาตรา 15 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหาข้อนี้ยุติตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 หรือไม่ และกรณีไม่ได้เป็นเรื่องจำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์ จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาบังคับแก่คดีนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดิน ๑ แปลงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง จำเลยเช่าที่ดินของวัดสุบรรณนิมิตรปลูกบ้าน เมื่อประมาณ ๗ ปีมานี้ โจทก์ทราบว่าที่ดินที่จำเลยเช่าจากวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ประมาณ ๑๐ ตารางวา โจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยพูดขออาศัยชั่วคราวและขอให้โจทก์ตกลงกับวัดสุบรรณนิมิตร ต่อมาโจทก์กับวัดสุบรรณนิมิตรตกลงปักเขตที่ดินกัน แล้วโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ได้รับโฉนดแล้ว วัดสุบรรณนิมิตรยอมรับว่าที่ดินรายนี้เป็นของโจทก์ จำเลยรับทราบแล้ว โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยต่อมา ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ จำเลยปลูกเรือนขึ้นในที่ดินของโจทก์อ้างว่าเช่าที่ดินจากวัดโจทก์ห้ามจำเลยแล้วไม่เชื่อฟัง ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโจทก์ ให้รื้อถอนโรงเรือนของจำเลยออกไปด้วย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของวัดสุบรรณนิมิตรที่จำเลยเช่าโจทก์ออกโฉนดรุกล้ำที่ดินของวัดโดยวัดมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าอาวาสลงชื่อรับรองเขตให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้กลฉ้อฉลและสำคัญผิด จำเลยไม่เคยอาศัยหรือเช่าที่พิพาทจากโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นที่ไม่มีหนังสือสำคัญ โจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองเกิน ๑ ปี ขาดสิทธิ์ฟ้องร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งทำแผนที่กลาง คู่ความรับรองความถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยไม่ได้ต่อสู้คดีว่ายึดถือที่พิพาทเพื่อตน แต่ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของวัดสุบรรณนิมิตรที่ให้จำเลยเช่า คดีไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองสำหรับที่พิพาทฟังว่าเป็นของโจทก์ พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทภายในเส้นสีแดงแผนที่กลาง ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปด้วย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ที่ให้จำเลยอาศัย ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใด แต่ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงของศาลชั้นต้นที่ ๖๗/๒๕๑๒ ที่จำเลยอ้างต่อสู้คดีว่าที่พิพาทรายนี้เป็นของวัดสุบรรณนิมิตรที่จำเลยเช่า ตามสำนวนดังกล่าวจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับวัดสุบรรณนิมิตร โดยวัดสุบรรณนิมิตรให้จำเลยเช่ามีกำหนด ๑๐ ปี อัตราเช่าปีละ ๓๐ บาท เทียบได้เท่ากับค่าเช่าเดือนละ ๒.๕๐ บาท ช่วงเวลาที่วัดให้จำเลยเช่าอยู่ระหว่างโจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงพอรับฟังว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องนั้น ที่พิพาทในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าหรืออาศัย จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๕ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหาข้อนี้ยุติตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือไม่ และกรณีไม่ได้เป็นเรื่องจำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์ จึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ มาบังคับแก่คดีนี้ไม่ได้
พิพากษายืนในผลที่โจทก์ชนะคดี.

Share