คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
จำเลยกู้เงินจากโจทก์ ตกลงชำระเงินกู้ภายใน 25 ปี ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยมีข้อตกลงในสัญญาข้อ 1 ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี มีระยะเวลาห้าปีนับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวได้ และมีข้อตกลงในสัญญาข้อ 3 ว่า หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนี้ ในช่วงระยะเวลาห้าปี นับแต่วันทำสัญญา ต้องถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตกลงกันว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดอกเบี้ยภายหลังวันผิดนัดที่เพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี จึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่สมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันทำสัญญา ไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดหรือไม่ก็ตามโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาข้อ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕๒๒,๑๖๒.๐๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๙๒,๖๒๙.๙๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๐๔,๐๒๘.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๙๒,๖๒๙.๙๔ บาท นับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยทั้งสิ้นคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน ๑๒๙,๕๓๒.๑๒ บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ จำเลยได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน ๔๑๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระเงินกู้ภายใน ๒๕ ปี ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท โดยมีข้อตกลงในสัญญาข้อ ๑ ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๙.๕ ต่อปี มีระยะเวลาห้าปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวได้ และมีข้อตกลงในสัญญาข้อ ๓ ว่า หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี จำเลยชำระเงินกู้ครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๑ แล้วไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ภายหลังวันผิดนัดหรือไม่ เห็นว่า เบี้ยปรับเป็นค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าว่า หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินข้อ ๑ มีข้อตกลงว่าจำเลยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ ๙.๕ ต่อปี มีระยะเวลาห้าปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของโจทก์ และข้อ ๓ มีข้อตกลงว่า หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดังนี้ ในช่วงระยะเวลาห้าปี นับแต่วันทำสัญญา กล่าวคือตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ จนถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ ต้องถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ ๙.๕ ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดอกเบี้ยภายหลังวันผิดนัดคือวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ จนถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ ๙.๕ ต่อปี จึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๙ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่สมควรได้ตามมาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ จนถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ จากร้อยละ ๑๙ ต่อปี ลงเหลือร้อยละ ๑๕ ต่อปี อันเป็นจำนวนที่พอสมควรจึงชอบแล้ว แต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันทำสัญญา กล่าวคือ นับแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี อยู่แล้ว ตามสัญญาข้อ ๑ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับแต่วันดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยตามสัญญา มิใช่เบี้ยปรับ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๐๔,๐๒๘.๙๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๙๒,๖๒๙.๙๔ บาท นับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ จนถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ และอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share