คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้กู้เงินจากผู้คัดค้านโดยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวม 2 โฉนด เป็นประกัน แต่สัญญาจำนองมีข้อความว่าลูกหนี้ตกลงจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้เงินกู้และหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของผู้จำนอง ทั้งมีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรือที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าด้วย สัญญาจำนองจึงมีผลเป็นการประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ลูกหนี้เป็นผู้คัดค้านอยู่ก่อนแล้วด้วยและถือว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ดังกล่าวทั้งสองจำนวน เมื่อผู้คัดค้านนำเงินค่าขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งสองโฉนดมาหักหนี้เงินกู้แล้วคงเหลือเงินอีก 60,000 บาท ผู้คัดค้านย่อมนำเงินที่เหลือมาหักหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งผู้คัดค้านมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันด้วยได้ ไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญเสียเปรียบ จึงเพิกถอนการไถ่ถอนจำนองและการรับชำระหนี้ของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 ทางสอบสวนของผู้ร้องได้ความว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 จำเลยกู้เงินไปจากผู้คัดค้าน 200,000 บาท โดยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14683, 14684ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2526จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านจำนวนเงิน100,000 บาท จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีตลอดมา เมื่อครบอายุสัญญาแล้วจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านได้ จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านนำที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายเพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2528ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14684 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาวบุญมี บุญแจ้ง ในราคา 130,000 บาท และวันที่ 1 พฤศจิกายน2528 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14683 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางอารีรัตน์ จันทร์เพ็ง ในราคา 130,000 บาท แล้วผู้คัดค้านนำเงินค่าขายที่ดินไปหักชำระหนี้เงินกู้จำนวน 236,090 บาทส่วนที่เหลือจำนวน 23,909.33 บาท ผู้คัดค้านนำไปหักหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการในระหว่างระยะเวลา3 เดือนก่อนร้องขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ที่จำเลยได้กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นจำนวนเงิน 260,000 บาท เสีย กับให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านรับชำระหนี้จากการขายที่ดินของจำเลยโดยสุจริต ไม่ทราบว่าจำเลยจะกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น การรับชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้เฉพาะส่วนโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 60,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ผู้ร้องร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของ ผู้ร้องเสียทั้งสิ้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 ลูกหนี้ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้และหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของผู้จำนอง ทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้หรือที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า สัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.2 ย่อมมีผลเป็นการประกันหนี้ตามสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 และหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2526 ด้วยจึงต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าว ซึ่งเมื่อลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านอาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ทั้งสองจำนวนนี้ได้ โดยบังคับเอากับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน แล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่หรือขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ หรือตีราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(2),(3), (4) ดังนั้น เงิน 60,000 บาท ที่เหลือจากการหักชำระหนี้ตามสัญญากู้ แต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ครบถ้วน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจะบังคับเอาได้การที่ผู้คัดค้านรับชำระหนี้ส่วนนี้ย่อมไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญเสียเปรียบการกระทำของลูกหนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น จึงไม่อาจเพิกถอนการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
พิพากษายืน

Share