คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน แล้วนำออกขายได้เงินเท่าใดให้นำไปชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เหลือเท่าใดจำเลยยอมรับผิดในส่วนที่ขาด เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินควรศาลอาจลดลงได้ ดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 7อัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับและสูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2529จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ซูซูกิกระบะบรรทุกไปจากโจทก์ 1 คันในราคา 207,680 บาท โดยจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา14,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนส่ง 48 งวด งวดละ 1 เดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 1 เป็นต้นมา และไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โจทก์ยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนเมื่อวันที่ 25 กันยายน2530 รถยนต์อยู่ในสภาพเสียหาย โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวออกขายให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 120,680 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ18 ต่อปี ในเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ขาดจำนวน 93,680 บาท และไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ในการที่โจทก์นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นเช่าในอัตราเดือนละ3,000 บาท รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์ขนาดเล็กถ้าจะนำให้ผู้อื่นเช่าก็จะได้ค่าเช่าเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสื่อมสภาพเป็นเงิน 93,680 บาท ค่าเช่าที่โจทก์อ้างว่านำรถยนต์ให้ผู้อื่นเช่าได้เดือนละ 3,000 บาท มีจำนวนสูงกว่าความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 28,000บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 77,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท นั้นสูงเกินไปโจทก์ควรจะได้ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 10,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น นั้นเห็นว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมายจ.4 ข้อ 9 กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้ ผู้ให้เช่าซื้ออาจเลือกใช้สิทธิที่จะนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายโดยเปิดเผยกับบุคคลใดเป็นราย ๆ ไปตามราคาที่ผู้ให้เช่าซื้อเห็นสมควร จำนวนเงินที่ขายได้ให้นำไปชำระค่าเช่าซื้อที่คงเหลืออยู่ หากราคาทรัพย์สินที่ขายไม่พอชำระหนี้ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบ ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดและชดใช้ค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินสมควร ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อมาได้รถยนต์มีสภาพเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อไปชนต้นไม้ทำให้กระจกหน้าแตกและส่วนหน้ายุบ ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าชนโดยแรงเชื่อได้ว่าสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายทรุดโทรมมากเนื่องจากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้นำไปขายในราคาเพียง100,000 บาท ต่ำกว่าราคาที่เช่าซื้อมาก โจทก์เองก็ได้ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 93,680 บาทเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ พิเคราะห์พฤติการณ์ทางได้เสียของโจทก์แล้ว เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 50,000 บาท จึงเป็นจำนวนค่าเสียหายที่พอสมควร
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงินเดือนละ 3,000 บาท สูงเกินไป ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเห็นว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์เป็นรถยนต์กระบะบรรทุกมีประโยชน์ในการใช้งานรับจ้างทั่วไปโจทก์เรียกค่าใช้ทรัพย์น้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแต่ละงวด ทั้งค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 3,000 บาท คิดเป็นค่าเช่าเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อให้เช่าเดือนละ 3,000 บาท ตลอดระยะเวลา 9 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่หลังจากผิดสัญญาเป็นเงิน 27,000 บาท จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในค่าเสียหายที่เกี่ยวกับการใช้ราคารถยนต์และค่าสินไหมทดแทนในการใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ที่สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 7 ระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใด ๆ แก่เจ้าของตามสัญญาประการใดประการหนึ่งก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการหนึ่งประการใดก็ดี ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินค้างชำระและหรือค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นั้นเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ทางได้เสียทั้งหลายของโจทก์และค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้โจทก์ไปแล้ว เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดยังคงสูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดลดลงเป็นอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 77,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share