คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์มรดกของ น. ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยก็ดี จดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นก็ดี มิได้ตกเป็นของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแบ่งปันทรัพย์ ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยล้วนเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของน.แล้ว จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกตกเป็นของจำเลยเอง หาใช่เป็นการจัดการทรัพย์มรดกของน. ที่ตกเป็นของโจทก์ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 353 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า นายปรีดาและจำเลยต่างเป็นบุตรของนางน้อย ส่วนโจทก์เป็นบุตรของนายปรีดา นางน้อยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2529นายปรีดาได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อย จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายปรีดาถึงแก่กรรมโจทก์ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีดาตามคำสั่งศาลต่อมาจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยโจทก์ยื่นคำคัดค้านขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยด้วย จำเลยจึงได้ตกลงกับโจทก์ว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยเพียงผู้เดียว แล้วจำเลยจะแบ่งมรดกของนางน้อยให้ฝ่ายโจทก์ครึ่งหนึ่ง และยื่นบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาลภายใน 1 เดือน โจทก์จึงได้ถอนคำคัดค้าน และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยแต่เพียงผู้เดียว ครั้นครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาลตามข้อตกลง ศาลจึงได้หมายเรียกจำเลยมาสอบถามตามคำแถลงของโจทก์ จำเลยจึงได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกโดยระบุว่านางน้อยมีทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินรวม 17 แปลง ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางน้อย โดยโจทก์ได้บ้าน 6 หลัง พร้อมที่ดิน ที่ดินว่างเปล่า4 ห้อง ที่นา 11 แปลง และเงินสดอีก 410,000 บาท ส่วนจำเลยได้ทรัพย์มรดกอื่น ๆ ของนางน้อยทั้งหมดที่ไม่ได้ระบุในสัญญาหลังจากทำสัญญากันดังกล่าวแล้ว จำเลยผิดสัญญาโดยไม่ยอมโอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกามาโดยสรุปว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ก่อนจำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยตามคำสั่งศาล ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องได้ความว่า หลังจากจำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางน้อยกันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 โดยโจทก์ได้ทรัพย์มรดกคือ บ้านพร้อมที่ดิน 6 ห้อง ที่ดินว่างเปล่า 4 ห้อง ที่นา 11 แปลงเงินสดจำนวน 410,000 บาท นอกจากทรัพย์มรดกของนางน้อยจำนวนดังกล่าวแล้ว ให้ตกเป็นของจำเลย ดังมีรายละเอียดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จากข้อความตามสัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันดังกล่าวย่อมทำให้ทราบได้ว่าทรัพย์มรดกของนางน้อยส่วนใดบ้างตกเป็นของโจทก์และส่วนใดตกเป็นของจำเลยชัดแจ้งแล้ว ไม่ได้ความว่าที่โจทก์ตกลงทำสัญญากับจำเลยเพราะถูกจำเลยหลอกลวงหรือถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ สัญญาที่โจทก์จำเลยตกลงทำกันจึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น เห็นว่าการแบ่งปันทรัพย์มรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติขั้นตอนการแบ่งปันทรัพย์มรดกไว้ สัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 แล้ว ยังเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850อีกด้วย ไม่ได้ความว่าทรัพย์มรดกของนางน้อยที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยก็ดี และจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลอื่นก็ดี เป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่โจทก์ตามสัญญาที่ทำกันไว้ดังกล่าว แต่กลับได้ความว่าล้วนเป็นทรัพย์มรดกที่มิได้ตกเป็นของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแบ่งปันทรัพย์ทั้งสิ้นและปรากฎว่าสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางน้อยที่โจทก์ทำกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2531 แต่ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของนางน้อยมาเป็นของจำเลยก็ดีและจดทะเบียนโอนเป็นของบุคคลอื่นก็ดี ล้วนแต่กระทำขึ้นภายหลังที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางน้อยกันดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น ดังนี้ที่จำเลยกระทำการไปดังกล่าวจึงเป็นการจัดการทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกเป็นของจำเลยเอง หาใช่เป็นการจัดการทรัพย์มรดกของนางน้อยที่ตกเป็นของโจทก์ไม่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share