คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สมคบกันมาลักทรัพย์ คนหนึ่งล้วงกระเป๋าลักทรัพย์ได้แล้วส่งให้อีกคนหนึ่งพาหนีไปคนแรกควักมีดออกแทงเจ้าทรัพย์เป็นเวลาภายหลังที่คนแรกพาทรัพย์หนีไปแล้ว ยังไม่พอฟังว่าคนหลังสมคบด้วย ในการที่คนแรกใช้มีดแทงคนหลังมีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ ไม่ผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองนี้ มีมีดเป็นศาสตราวุธสมคบกันกระทำการชิงธนบัตรของนายบิน นุ่มนิ่ม ไป 200 บาท ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 ล้วงลักเอาธนบัตรใบละ 100 บาท 2 ฉบับ จากกระเป๋าเสื้อของนายบิน และส่งธนบัตรนั้นให้จำเลยที่ 2 รับไว้เพื่อพาหนี ทันใดนั้น นายบินจับจำเลยที่ 1 ไว้ และทันใดนั้นเอง จำเลยที่ 1 ใช้มีดแทงนายบิน เพื่อให้เป็นความสะดวกในการลักทรัพย์นั้น และเพื่อจะหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาสำหรับความผิดที่จำเลยสมคบกันลักทรัพย์นั้น แต่นายบินหลบและจับมือจำเลยที่ 1 ที่แทงมานั้นได้ จำเลยที่ 1 จึงทำร้ายร่างกายนายบินให้ถึงบาดเจ็บดังเจตนาไม่ได้ เหตุเกิดในขบวนรถไฟ ณ ที่จอดรถไฟสถานีชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 294, 293, 254, 60, 298, 299, 63

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ครั้นสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปากจำเลยที่ 1 กลับถอนคำให้การเดิม รับสารภาพว่าได้ล้วงกระเป๋าเอาธนบัตรของเจ้าทรัพย์ไปจริง และได้ชักมีดแทงเจ้าทรัพย์จริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงดังฟ้องจึงพิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 299 ฐานสมคบกันชิงทรัพย์ ให้จำคุกจำเลยคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับลดให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 คงจำคุกจำเลยที่ 1 4 ปี คืนเงินของกลาง 200 บาท ให้เจ้าทรัพย์ มีดของกลางริบ

จำเลยที่ 2 เท่านั้น อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดียังเป็นที่สงสัย จึงพิพากษาให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ไป เงินของกลางคืนจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาแล้ว ชั้นนี้คงมีข้อพิจารณาเฉพาะตัวนายผดุงจำเลยเท่านั้น ทางพิจารณาคดีได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า วันโจทก์หา เวลาประมาณ 8 หรือ 9 น. นายบินเจ้าทรัพย์พร้อมด้วยนายบัวนายสมจิตรบุตร และนายบินยังอุ้มบุตรเล็กยังไม่มีชื่ออีกคนหนึ่งได้ไปขึ้นรถไฟที่สถานีชุมแสง เพื่อจะไปพิษณุโลก พอนายบินกับบุตรขึ้นไปยืนที่ชานรถตรงประตูจะเข้าห้องตู้รถไฟ ก็ถูกนายประสิทธิจำเลยเอามือล้วงธนบัตรในกระเป๋าเสื้อข้างขวาของนายบินไป 2 ฉบับ เป็นธนบัตร ฉบับละ 100 บาท นายบินคว้ามือนายประสิทธิจำเลยไว้ นายประสิทธิจำเลยได้ส่งธนบัตรนั้นให้นายผดุงจำเลยซึ่งอยู่บนรถเดียวกัน นายผดุงจำเลยรับธนบัตรแล้วก็เดินไปอีกตู้หนึ่ง นายบินละมือนายประสิทธิจำเลยเอาลูกที่อุ้มไปวางที่ม้านั่งแล้วกลับออกมา นายประสิทธิจำเลยเดินจะไปตู้อื่น นายบินก็คว้ามือไว้อีก นายประสิทธิจำเลยได้ควักมีดจากกระเป๋ากางเกงตรงเข้าแทงนายบิน นายบินจับมือไว้ และผลักนายประสิทธิจำเลยเซไป แล้วนายบินโดดหนีออกทางหน้าต่างรถไฟลงไปที่พื้นดินร้องเรียกให้ช่วย ทันใดนั้นพอดีนายสิบตำรวจตรีเปลี่ยนกับพวกกลับจากตรวจราชการมาลงที่สถานีนั้น ได้ยินเสียงร้องให้ช่วยก็วิ่งมา นายบินบอกให้จับคนร้ายล้วงกระเป๋าว่ายังอยู่บนรถไฟนายบินได้พานายสิบตำรวจตรีเปลี่ยนขึ้นไปบนรถไฟ และชี้ให้จับนายประสิทธิจำเลยว่าเป็นคนล้วงกับชี้ให้จับนายผดุงจำเลย ซึ่งยืนอยู่ใกล้ ๆ กันว่าเป็นคนรับธนบัตรจากนายประสิทธิจำเลยนายผดุงจำเลยนี้ เมื่อนายบินโดดหน้าต่างไปแล้วได้กลับมาที่นายประสิทธิจำเลยอีก

เมื่อจับจำเลยทั้งสองแล้ว นายสิบตำรวจตรีเปลี่ยนค้นได้มีดพกปลายแหลมในกระเป๋ากางเกงนายประสิทธิจำเลย และต่อมาได้ค้นตัวนายผดุงจำเลย ได้กระเป๋าบรรจุธนบัตร ในกระเป๋ามีธนบัตรฉบับละ 100 บาท2 ฉบับ ฉบับละ 20 บาท 6 ฉบับ กับเศษสตางค์ ธนบัตรใบละ 100 บาท 2 ฉบับนั้น อยู่ในแหนบหนึ่งของกระเป๋าใส่ธนบัตรนอกนั้นอยู่ในแหนบหนึ่ง ธนบัตรฉบับละ 100 บาทนั้นพับไม่เรียบร้อยพับยู่ยี่ นายสิบตำรวจตรีเปลี่ยนได้พาจำเลยและเจ้าทรัพย์ไปส่งสถานีตำรวจ นายบินจำธนบัตรฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับได้ว่าเป็นของนายบินถูกล้วงไป

นายผดุงจำเลยอ้างตัวเองและอ้างนายประสิทธิจำเลยเป็นพยานปฏิเสธว่าไม่ได้รับธนบัตรจากนายประสิทธิจำเลย นายผดุงจำเลยเป็นแต่เห็นนายบินและนายประสิทธิจำเลยปล้ำกัน จึงเข้าไปห้ามเท่านั้น

พิจารณาแล้ว โจทก์มีประจักษ์พยานคือนายบินและนายบัวต่างให้การยืนยันว่า ได้เห็นนายประสิทธิจำเลยส่งธนบัตรที่ล้วงให้นายผดุงจำเลย รับธนบัตรแล้วนายผดุงจำเลยเดินไปอีกตู้หนึ่งนอกนั้นโจทก์ยังมีคำนายสิบตำรวจเปลี่ยนประกอบรู้เห็นดังได้กล่าวมา เห็นว่า เหตุเรื่องนี้เป็นเวลากลางวัน และตรงชานรถที่เกิดเหตุก็มีคนอยู่ไม่มาก เกิดเหตุแล้ว เจ้าทรัพย์ก็พาตำรวจมาจับจำเลยได้ในทันทีทันใด จึงไม่มีทางสงสัยว่าพยานจะจำตัวผิดและไม่มีข้อระแวงว่าจะแกล้งปรักปรำ เพราะปรากฎว่าพยานกับจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ที่ศาลอุทธรณ์ตำหนิพยานโจทก์ว่าให้การแตกต่างกันในข้อว่าค้นได้ธนบัตร จากนายผดุงจำเลยที่ตรงไหนไม่ใช่เป็นข้อสำคัญเพราะรับกันอยู่แล้วว่าค้นได้ธนบัตรจากนายผดุงจำเลยจริงและธนบัตรฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับ ของกลางนี้ตามพฤติการณ์ดังกล่าวควรเชื่อว่าเป็นของเจ้าทรัพย์ ข้อที่ว่านายผดุงจำเลยเป็นคนร้ายจริง น่าจะหลบไปเสีย เหตุใดจึงกลับมาให้ถูกจับนั้น ข้อนี้เมื่อระลึกถึงว่านายประสิทธิจำเลยเองก็ไม่ได้หนีไปไหน นายผดุงจำเลยก็อยู่ในฐานะเช่นเดียวกัน และจำเลยคงไม่คิดว่าจะมีตำรวจอยู่ในที่นั้น ทั้งจำเลยเองมีพวกอยู่ ประกอบกับเป็นเวลาจวนแจ การที่จำเลยไม่หลบหนีจะถือเอาเป็นข้อพิรุธถึงกับจะฟังว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายยังไม่ได้คดีฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า นายผดุงจำเลยได้สมคบกับนายประสิทธิจำเลยในการล้วงลักธนบัตรของเจ้าทรัพย์รายนี้ แต่เห็นว่าตอนที่นายประสิทธิจำเลยควักมีดออกมาแทงนายบินเจ้าทรัพย์นั้น เป็นเวลาภายหลังที่ นายผดุงจำเลยพาธนบัตรหนีไปอีกตู้รถหนึ่งแล้ว ตามพฤติการณ์ยังไม่พอให้ฟังได้ว่านายผดุงจำเลยได้สมคบด้วยในการที่นายประสิทธิใช้มีดแทง นายบินนั้น นายผดุงจึงยังไม่มีผิดฐานชิงทรัพย์

จึงพิพากษาแก้ว่านายผดุงจำเลยมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 293, 294 ให้จำคุกนายผดุงจำเลยมีกำหนด 3 ปี (สามปี)

Share