คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับเงินจากรัฐบาลสำหรับเป็นค่าเช่าบ้าน แล้วเอาเงินนี้ไปสมทบเข้ากับเงินส่วนตัวของจำเลยส่งให้แก่ผู้ให้เช่าสำหรับเป็นค่าเช่าบ้านตามสัญญาเช่าซื้อแม้กรรมสิทธิในบ้านอาจจะตกอยู่แก่จำเลยในภายหลังได้ จำเลยก็หามีผิดฐานยักยอกอันต้องอาญาไม่

ย่อยาว

ได้ความว่าจำเลยรับราชการเป็นเสมียนแผนกสรรพสามิตต์ ได้เช่าบ้านของ จ.อยู่ค่าเช่าเดือนละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในอัตราเงินเดือนที่ได้รับเดือนละ ๕๐ บาทต่อมาจำเลยได้เช่าซื้อบ้านจาก จ.เป็นราคา ๔๐๐ บาท โดยผ่อนส่งค่าเช่าเดือนละ ๒๕ บาท ในการส่งค่าเช่านี้จำเลยได้ออกเงินส่วนตัวเพิ่มเดือนละ ๑๗ บาท ๕๐ สตางค์ เพราะได้จากรัฐบาลอยู่แล้วเดือนละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ต่อมาได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น จึงได้รับอนุญาตให้เบิกเงินค่าเช่าได้เดือนละ ๙ บาท จำเลยจึงออกเงินส่วนตัวเพียงเดือนละ ๑๖ บาท ในที่สุดได้โอนสิทธิในสัญญาเช่าซื้อให้แก่ผู้อื่นต่อไป ในการรายงานขออนุญาตเพิ่มค่าเช่านี้ก็เพราะเจ้าของบ้านขยายบ้านให้กว้างออกไปอีก แลโดยคำร้องขอของเจ้าบ้านด้วย โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๑๘-๒๒๖-๓๐๔-๓๑๙
ศาลล่างทั้ง ๒ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีผิดฐานยักยอกแลจำเลยไม่ได้เอาความเท็จไปแจ้งแก่เจ้าพนักงาน หรือเอาความเท็จไปหลอกลวงใครอันจะเป็นฉ้อโกง
ศาลฎีกาเห็นว่าในข้อแจ้งความเท็จหรือฉ้อโกงนั้น ศาลล่างได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่เป็นเท็จไม่เป็นหลอกลวงอันเป็นข้อเท็จจริง ส่วนข้อยักยอกนั้น เพียงแต่จำเลยได้รับอนุญาตเบิกค่าเช่ามาแล้วเอาเงินส่วนตัวสมทบเข้าส่งเป็นค่าเช่าตามสัญญาเช่าซื้อนั้นจะเรียกว่าจำเลยยักยอกเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายให้จำเลยก็ได้จ่ายเป็นค่าเช่าบ้านอันเป็นกรรมสิทธิของผู้อื่น จำเลยมิได้ยักยอกเอาไว้เลย เมื่อสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกไปเมื่อใด เงินค่าเช่านั้นเจ้าของบ้านก็ตกลงไม่คืนให้ ดังนี้หาเป็นการยักยอกอันต้องอาญาไม่ แม้จำเลยจะเอาเปรียบโดยวิธีเพิ่มค่าเช่าอันเป็นเงินส่วนตัวของจำเลยโดยเมื่อครบกำหนดแล้วให้บ้านเรือนเป็นกรรมสิทธิแก่จำเลย ก็หาทำให้เป็นการยักยอกเงินค่าเช่าที่รัฐบาลจ่ายให้นั้นไม่ จึงพิพากษายืนตามล่าง

Share